พืช-ผัก-หญ้า ก็เป็นยา
พืช-ผัก-หญ้า ก็เป็นยา
อยู่บ้านสวนพอเพียง ไม่ลืมคุยเรื่องพืชผักหญ้า ก็เป็นยา ส่วนจะเป็นยาอย่างไรนั้น หลายท่านเคยได้ยิน “หวานเป็นลม ขมเป็นยา” วันนี้เลยชวนคุยกันถึงพืชผักหญ้าก็เป็นยาด้วยการนำเอา “รส”ของพืช-ผัก-หญ้า มาว่ากันตามหลักการ “รสยา” เพื่ออย่างน้อยหากรู้สึกไม่สบายเนื้อตัว ก็พึ่งตัวเองกันในเบื้องต้นด้วยการปรุงอาหารให้มีรสอร่อยแล้วพ่อครัวแม่ครัวเก่ง ๆ ของบ้านสวนฯได้พลิกแพลงให้รสอาหารหนึ่งมื้อที่มีเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด เป็นตำรับอาหารที่เป็นทั้งอาหารและเป็นยาได้
รสยา จำแนกโดยหลัก ๆ มักกล่าวถึง รสประธาน ๓ รส และ รสยา ๙ รส
รสประธาน ๓ รส
ก.รสร้อน (ตัวอย่าง เช่น เมล็ดพริกไทย หัวกระเทียม ขิง ข่า กานพลู กระชาย รากช้าพลู ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ เป็นต้น) เมื่อปรุงหรือผสมแล้วหากเป็นยาก็เป็นยารสร้อน สรรพคุณแก้ในทางวาโยธาตุ(ธาตุลม) แก้ลมจุกเสียด บำรุงธาตุ
ข.รสเย็น (ตัวอย่าง เช่น ใบตำลึง รากมะกรูด รากมะนาว รากมะปรางหวาน ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ใบหญ้าใต้ใบ ใบบัวบก เป็นต้น) เมื่อปรุงหรือผสมเป็นยาแล้วมีรสเย็น สรรพคุณแก้ในทางเตโชธาตุ(ธาตุไฟ) แก้ไข้ ตัวร้อน แก้ไข้พิษ ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้
ค.รสสุขุม(ตัวอย่าง เช่น อบเชย แฝกหอม หญ้าฝรั่น เประหอม กฤษณา เกสรบัวหลวง เป็นต้น) เมื่อปรุงหรือผสมเป็นยาแล้ว ก็มีรสสุขุมแก้ในทางอาโปธาตุ(ธาตุน้ำ) แก้ทางโลหิตและเสมหะ บำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลีย
รสยา ๙ รส
๑.รสฝาด สรรพคุณ ชอบสมาน สำหรับสมานบาดแผล ปิดธาตุ แก้ท้องร่วง แก้บิด (ตัวอย่าง เช่น ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน เปลือกแค )
๒.รสหวาน สรรพคุณ ซึมซาบไปตามเนื้อ ทำให้เนื้อชุ่ม บำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย (ตัวอย่าง เช่น ชะเอมไทย ชะเอมเทศ น้ำตาลอ้อย น้ำตาลสด ดอกอังกาบ ดอกคำฝอย รากหญ้างวงช้าง )
๓.รสเมาเบื่อ สรรคุณ แก้พิษ (ตัวอย่าง เช่น หัวบุก รากเล็บมือนาง ลูกสะบ้า ชุมเห็ดเทศทั้งห้า )
๔.รสขม สรรพคุณ บำรุงโลหิตและน้ำดี เจริญอาหาร(ตัวอย่าง เช่น หัวบัวขม มะระทั้งห้า(ต้น-ใบ-ดอก-ราก-ผลของมะระ) หัวแห้วหมู )
๕.รสเผ็ดร้อน สรรพคุณ แก้ลม ลมจุกเสียด แน่นเฟ้อ ขับผายลม บำรุงธาตุ (ตัวอย่าง เช่น รากช้าพลู รากกระชาย เถาสะค้าน รากกระเพรา หัวกระเทียม เมล็ดพริกไทย )
๖.รสมัน สรรพคุณ แก้เส้นเอ็น บำรุงเส้นเอ็น เพิ่มไขมัน ให้ความอบอุ่นกับร่างกาย (ตัวอย่าง เช่น เมล็ดกระบก เมล็ดถั่ว เมล็ดถั่วเขียว เนื้อกระจับสด เมล็ดงา )
๗.รสหอมเย็น สรรพคุณบำรุงหัวใจ (ตัวอย่าง เช่น ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค หญ้าฝรั่น ต้นเตยหอม เปราะหอมแฝกหอม )
๘.รสเค็ม สรรพคุณ ซึมซาบไปตามผิวหนัง (ตัวอย่าง เช่น หัวหอม เกลือสินเธาว์ เกลือสมุทร)
๙.รสเปรี้ยว สรรพคุณ กัดเสมหะ แก้เสมะ ฟอกโลหิต ระบายอุจจาระธาตุ (ตัวอย่าง เช่น ลูกมะขามป้อม ลูกมะดัน ฝักมะขามไทย น้ำมะกรูด น้ำมะนาว น้ำส้มสายชู ใบส้มป่อย ลูกมะแว้ง ลูกมะกอก ลูกมะอึก )
นอกจากนี้ยังเพิ่มยารสจืด สำหรับแก้ทางเตโชธาตุ(ธาตุไฟ)(ตัวอย่าง เช่น ใบแค ใบมะยม รากมะกรูด รากมะนาว ผักพังพวย ผักกะเฉด เถาตำลึง รางจืด)
อย่างไรก็ตามตามตำราว่าไว้ว่ายังมีรายละเอียดการใช้บางอย่างที่ไม่ถูกต้องก็อาจแสลงกับโรคที่มีอยู่ได้
ในวันนี้นำเสนอเรื่อง "พืช-ผัก-หญ้า ก็เป็นยา" มุ่งหวังว่าหากปลูกพืช-ผัก-หญ้าใด เมื่อนำมาเป็นอาหารแล้วลองสังเกตว่าน่าจะเข้าได้กับรสยาใด นำมาประยุกต์ปรับในอาหารมื้อนั้น อาหารมื้อนั้นนอกจากมีรสอร่อยแล้ว ยังทำให้สบายตัวได้อย่างง่าย ๆ น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการพึ่งตัวเองเบื้องต้นทางสุขภาพได้อย่างดี
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ เวช-เภสัชกรรมแผนโบราณ และช่วยสอบวิชาเภสัชกรรมแผนโบราณ โดยหมอมัธยัสถ์ ดาโรจน์ โรงพิมพ์เทพรัตน์การพิมพ์ กทม. พ.ศ.๒๕๒๖
- บล็อกของ สายพิน
- อ่าน 7401 ครั้ง
ความเห็น
สายพิน
2 กันยายน, 2011 - 17:36
Permalink
ป้าเล็ก
เคยอ่านมาแล้ว แถมท่องจำก็แล้ว แต่พอเวลาผ่านไปหลายอย่างก็ลางเลือนไป เลยหลายวันนี้เอามาปัดฝุ่นทั้งตำราและความจำค่ะ ขอบคุณค่ะ ป้าเล็ก
nidnan
1 กันยายน, 2011 - 18:11
Permalink
Re: พืช-ผัก-หญ้า ก็เป็นยา
อย่างนี้เอามาใช้กับรายการอาหารเเต่ละวันได้เลยดีจังค่ะพี่สายพินบางอย่างเเนนไม่เคยรู้ก็ได้รู้ขอบคุณสาระดี ดีที่เอามาฝากนะคะ
ท้อได้เเต่อย่าถอย
สายพิน
2 กันยายน, 2011 - 17:55
Permalink
แนน "พืช-ผัก-หญ้า ก็เป็นยา"
เป็นอีกเรื่องราวที่น่าสนใจ เท่าที่ทราบมามีคำว่าอาหารเป็นหนึ่งในโลก ในเวลาเดียวกันอาหารก็เป็นยาด้วย หากว่าปรุงหมุนเวียนกันไปในแต่ละวันแต่ละสภาพอากาศพี่ว่าน่าจะดีมากกับการให้มีสุขภาพที่แข็งแรง อีกอย่างอาจต้องเรียนรู้เพิ่มถึงปริมาณและวิธีการปรุงที่จะให้ประโยชน์ได้นะคะ ขอบคุณแนนที่แวะมาเยี่ยมกันค่ะ
paloo
1 กันยายน, 2011 - 18:11
Permalink
Re: พืช-ผัก-หญ้า ก็เป็นยา
จะเป็นยา ให้คุณต่อสุขภาพ ก็ต่อเมื่อใช้อย่างพอเหมาะ พอดี ....
หากใช้เกินพอดี ก็เป็นโทษ ไม่ว่า รสใด ๆ
สายพิน
2 กันยายน, 2011 - 17:57
Permalink
ขอบคุณลุงปาโลค่ะ
เห็นด้วยอย่างมากเลยค่ะ ลุงปาโล ต้องมีวิธีการใช้ที่ถูกต้องและเหมาะสมทั้งกับตัวบุคคลและพืชผักหญ้าชนิดนั้น ๆ ด้วยค่ะ
วิศิษฐ์
1 กันยายน, 2011 - 19:12
Permalink
Re: พืช-ผัก-หญ้า ก็เป็นยา
ข้อมูลดีมาก ๆ เลยครับ...ผมยังอ่อนเรื่องนี้มาก ๆ เลยไว้ให้ผักที่สวนเริ่มลงตัวอยู่ได้ ก็จะเริ่มลงมือจัดโชนพืชสมุนไพรไว้ด้วยนะครับพี่..ขอบคุณข้อมูลดี ๆ นะครับ
สายพิน
2 กันยายน, 2011 - 18:02
Permalink
ขอบคุณค่ะ วิศิษฐ์
ขอบคุณค่ะ วิศิษฐ์ ที่แวะมาเยี่ยมชมบล็อกกัน เรื่องสมุนไพรเป็นเรื่องที่น่าสนใจ โดยความเข้าใจแล้วเป็นส่วนหนึ่งของพืชวัตถุหนึ่งในสามอย่างที่เกี่ยวกับเภสัชวัตถุ ในส่วนไม้ยืนต้นใหญ่ ๆ ก็เป็นพืชวัตถุที่เป็นยาได้ด้วย โดยส่วนตัวแล้วก้ว่าต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจกับเรื่องพืช-ผัก-หญ้า ที่เป็นยา โดยเฉพาะต้นจริง ๆ หากว่าได้รู้น่าจะดีมากด้วย พอเจอเข้าก็ได้รู้จริงนอกเหนือจากรู้ตามตำราค่ะ
jo korakod
1 กันยายน, 2011 - 20:33
Permalink
Re: พืช-ผัก-หญ้า ก็เป็นยา
เคยอ่านพบว่า พลูคาวช่วยได้เรื่องสายตาที่พร่ามัว
เมื่ออายุมากขึ้นค่ะ แถม ผิวสวยด้วย
ขอบคุณข้อมูลที่นำมาแบ่งปันค่ะ
มีประโยชน์มากๆเลยค่ะ
facebook https://www.facebook.com/ninkmax
สายพิน
2 กันยายน, 2011 - 18:07
Permalink
ดีจัง คุณโจ
พอจะทราบมาบ้างว่าพลูคาวมีสรรพคุณดีมาก หลายเดือนก่อนติดตามหาพลูคาวจากแม่ค้าที่ขายของตลาดวันเสาร์ แม่ค้าเคยเอามาให้จากทางเหนือแต่พอเดินทางมาถึง กทม ต้นเหี่ยวเฉาไปแม่ค้าเลยทิ้งก่อนเอามาถึงมือ เสียดาย หลังจากนั้นก็นัดกันอีกว่าจะนำมาใหม่ ... ขอบคุณข้อมูลประโยชน์พลูคาวที่ว่าด้วยเรื่องช่วยสายตาพร่ามัวด้วยค่ะ น่าจะเป็นประโยชน์ได้ดีมาก ๆ ทีเดียวกับอายุที่เยอะขึ้น
OOD
1 กันยายน, 2011 - 21:47
Permalink
Re: พืช-ผัก-หญ้า ก็เป็นยา
ขอบคุณสำหรับข้อมูลดี ๆ ค่ะ ตอนนี้ก็กินปลาเป็นหลัก กินผักเป็นยาอยู่ค่ะ
หน้า