บริจาคเลือดกันไหม

หมวดหมู่ของบล็อก: 

เมื่อวานได้มีโอกาส ออกหน่วยรับบริจาคเลือดร่วมกับโรงพยาบาลและกาชาดจังหวัด ที่โรงเรียนกำแพงวิทยาอีกครั้ง  ครบ รอบ 1 ปีพอดี จากบล็อกปีที่แล้ว..คราวนี้มีน้อง ๆหลายคนมาบริจาคเป็นครั้งที่ 2   หลังจากผ่านการบริจาคครั้งแรกไปแล้ว รู้ว่าไม่ได้ น่ากลัวและเจ็บมากมายอย่างที่คิด..แต่ยังมีน้องน้องๆอีกหลาย ๆคนที่ร่างกายไม่พร้อมที่จะให้บริจาค เช่นพักผ่อนไม่เพียงพอ ..รวมทั้งหลังการรับบริจาค มีน้อง ๆบางคน เป็นลม วิงเวียนศีรษะ ..ซึ่งอาจจะตรงกับหลาย ๆท่านที่ต้องการบริจาคเลือด  วันนี้เลยขอนำความรู้ในการเตรียตัวก่อนให้บริจาคเลือดมาฝากด้วยค่ะ


การเตรียมตัวก่อนบริจาคโลหิต



  1. นอนหลับให้เพียงพอ ในเวลาปกติคืนก่อนวันบริจาค

  2. รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง และยาธาตุเหล็กเพิ่ม

  3. รับประทานอาหารมื้อหลักก่อนมาบริจาคโลหิต หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เนื่องจากจะทำให้สีของพลาสมาผิดปกติเป็นสีขาวขุ่น ไม่สามารถนำไปใช้ได้

  4. ดื่มน้ำ 3-4 แก้ว และเครื่องดื่มเหลวเพิ่ม เช่น น้ำผลไม้ นม น้ำหวาน เพื่อเพิ่มปริมาณ โลหิตในร่างกาย จะช่วยป้องกันอาการแทรกซ้อน เช่น มึนงง อ่อนเพลีย หรือวิงเวียนศีรษะภายหลังบริจาคโลหิต

  5. ไม่มีอาการมึนเมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ หรืออื่นๆ

  6. ไม่รับประทานยา กลุ่มยาอักเสบ ยาแอสไพริน หรือยาคลายกล้ามเนื้อ ภายใน 6- 7 ชั่วโมง

ขณะบริจาคโลหิต



  1. สวมใส่เสื้อผ้าที่แขนเสื้อไม่คับเกินไป สามารถดึงขึ้นเหนือข้อศอกได้อย่างน้อย 3 นิ้ว

  2. เลือกแขนข้างที่เส้นโลหิตดำใหญ่ชัดเจน ที่สามารถให้โลหิตไหลลงถุงได้ดี ผิวหนังบริเวณที่จะให้เจาะ ไม่มีผื่นคัน หรือรอยเขียวช้ำ ถ้าแพ้ยาทาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ ให้แจ้ง เจ้าหน้าที่ทราบล่วงหน้า

  3. ทำตัวตามสบาย อย่ากลัว หรือวิตกกังวล

  4. ไม่ควรเคี้ยวหมากฝรั่ง หรืออมลูกอมขณะบริจาคโลหิต

  5. ขณะบริจาคควรบีบลูกยางอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้โลหิตไหลได้สะดวก หากมีอาการ ผิดปกติ เช่น ใจสั่น วิงเวียน มีอาการคล้ายจะเป็นลม อาการชา อาการเจ็บที่ผิดปกติ ต้องรีบแจ้งให้พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ในบริเวณนั้นทราบทันที

  6. หลังบริจาคโลหิตเสร็จเรียบร้อย ห้ามลุกทันที ให้นอนพักสักครู่จนกระทั่งรู้สึกสบายดี จึงลุกไปดื่มน้ำ และรับประทานอาหารว่างที่จัดไว้รับรอง

 หลังบริจาคโลหิต



  1. ดื่มน้ำมากกว่าปกติ เป็นเวลา 1-2 วัน

  2. หลีกเลี่ยงการทำซาวน่า หรือออกกำลังกายที่ต้องเสียเหงื่อมากๆ งดใช้กำลังแขนข้างที่เจาะ รวมถึงการหิ้วของหนักๆ เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ภายหลังการบริจาคโลหิต

  3. ถ้ามีอาการเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม หรือรู้สึกผิดปกติ ให้รีบนั่งก้มศีรษะต่ำระหว่างเข่า หรือนอนราบยกเท้าสูงจนกระทั่งมีอาการปกติจึงลุกขึ้น และเดินทางกลับ ป้องกันอุบัติเหตุจากการล้ม

  4. ถ้ามีโลหิตซึมออกมาจากรอยผ้าปิดแผล อย่าตกใจ ให้ใช้นิ้วมืออีกด้านหนึ่งกดลงบนผ้าก๊อส กดให้แน่นและยกแขนสูงไว้ประมาณ 3-5 นาที หากยังไม่หยุดซึมให้กลับมายังสถานที่บริจาคโลหิตเพื่อพบแพทย์หรือพยาบาล

  5. ผู้บริจาคโลหิตที่ทำงานปีนป่ายที่สูง หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล ควรหยุดพัก 1 วัน

  6. รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง และยาธาตุเหล็กที่ได้รับวันละอย่างน้อย 1 เม็ด จนหมด เพื่อป้องกันการขาดธาตุเหล็ก  

ขั้นตอนการรับริจาคเลือด


1. มีการคัดกรอง  โดยใช้แบบซักประวัติ  โรคประจำตัว การใช้ยา การพักผ่อน น้ำหนัก ความดันโลหิต  ว่าปกติหรือไม่ รวมทั้งประวัติการบริจาค ที่ผ่าน ๆมาว่า มีปัญหาเช่นเป็นลม มีรอยเขียวช้ำ หรือไม่



2. มีการเจาะตรวจกรุ๊ปเลือดอีกครั้ง เพื่อความถูกต้อง  รวมทั้งตรวจความเข้มข้นของเลือด 













เมื่อเจาะเลือดจากปลายนิ้ว หยดลงในน้ำยาสีฟ้า (สารละลายจุนสีหรือCopper sulphate)แต่หยดเลือดของคุณไม่จม และเมื่อได้ตรวจความเข้มข้นของโลหิต (Hemoglobin) พบว่าความเข้มข้นไม่ถึง 12 g/dL ในผู้หญิง หรือไม่ถึง 13 g/dL ในผู้ชายแสดงถึงภาวะโลหิตจาง คุณ! อาจเป็นพาหะโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย หรือโรคโลหิตจางเนื่องจากขาดธาตุเหล็ก

         ยาธาตุเหล็กสำหรับผู้บริจาคโลหิต โดยปกติ ร่างกายจะเสียธาตุเหล็ก จากการหลุดลอกของเซลล์ ผนังลำไส้ และเซลล์อื่นๆในปริมาณที่น้อยมาก
คือ ประมาณ 1 และ 1.5 มิลลิกรัม ในผู้ชายและผู้หญิง ตามลำดับ เท่ากับที่ได้รับจากอาหาร การมีประจำเดือนแต่ละเดือนผู้หญิงจะสูญเสียธาตุเหล็กประมาณ 30-40
มิลลิกรัม ส่วนการบริจาคโลหิตแต่ละครั้งจะเสียธาตุเหล็กประมาณ 150-200มิลลิกรัมซึ่งเห็นได้ว่าเป็นปริมาณที่สูงมากจำเป็นต้องมีการทดแทน
เพื่อป้องกันภาวะโลหิตจางจากการสูญเสียธาตุเหล็ก จากการศึกษา เกี่ยวกับผู้บริจาคโลหิตของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่พบว่าร้อยละ 37 ของผู้ที่ไม่สามารถบริจาคโลหิตได้โดยเฉพาะผู้หญิง คือ เลือดลอย หรือความเข้มข้นของโลหิตต่ำกว่ามาตรฐานในการบริจาค (12.5 gm/dL) ซึ่งถ้าสาเหตุมาจากการขาดธาตุเหล็กก็ควรต้องกินยาเสริมธาตุเหล็ก และเพิ่มอาหารที่มีธาตุเหล็กให้มากขึ้น

         หากท่านได้ปฎิบัติตามคำแนะนำดังกล่าวท่านจะไม่เกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กแน่นอน โลหิตจะเข้มข้นเพียงพอที่จะบริจาคทุกครั้ง การบริจาคโลหิตจะเป็นการกระตุ้นให้ไขกระดูกทำงานผลิตโลหิตใหม่หมุเวียนทดแทนโลหิตเก่าที่ออกไป ส่งผลให้เป็นผู้มีผิวพรรณสดใส ไม่อ่อนเพลีย มีสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์ตลอดไป
 
เอกสารอ้างอิง
1. ข้อมูลเผยแพร่ทางวิชาการของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เรื่อง ความสำคัญของธาตุเหล็กที่มีต่อการบริจาคโลหิต 2545


3. เมื่อตรวจแล้วร่างกายพร้อมที่จะให้บริจาค ก็ เริ่มเจาะเลือด แขนข้างที่เส้นโลหิตดำใหญ่ชัดเจน



อ่ะ ๆ...จึ๊ก .....พี่..ไม่เจ็บนะคะ...น้อง..เจ็บ..เหมือนมดกัดจริงแฮะ..*-*



น้องคนนี้..บริจาคครั้งที่ 2 แล้วค่ะ..หลังจากครั้งแรกกล้า ๆกลัว ๆ ครั้งนี้ สู้ต้ายค่ะ..



คนนี้ครั้งแรกค่ะ...หลังจากเดินวน ๆ 2-3 รอบ ..พี่คะ..บริจาคแล้วจะเป็นไรไหมคะ...พี่คะ..เค้าบอกว่าบริจาคเลือดแล้วจะ เอ๋อ ๆมั้ยคะ.. ตอนนี้น้องได้คำตอบที่จะไปอธิบายคนอื่น ๆแล้วนะคะ..ว่า เจ็บเหมือนโดนมดกัด หรือเข็มตำ จริงหรือไม่..*-*



น้องห้องแลป และน้องพยาบาลช่วยกันเจาะเลือดค่ะ



นี่ก็ครั้งแรกค่ะ...หลังจากปีที่แล้ว ตั้งใจบริจาค แต่ร่างกายไม่พร้อม..ปีนี้สู้ ๆเลยค่ะ..(บีบลูกบอลสม่ำเสมอ เลือดจะไหลเต็มถุงได้เร็ว)



ในที่สุด ก็ผ่านไปด้วยดี..หลังจากบริจาคเลือดไป  450 มิลลิลิตร... นอนพัก สักครู่ ก็ลุกขึ้นเดินแซว เพื่อน ๆต่อได้แล้วค่ะ


4. หลังจากให้บริจาคเลือดแล้วก็นอนพักสักครู่ และ ดื่ม นม ไข่ต้ม น้ำแดง และขนม เพื่อเพิ่มพลังงานให้กับร่างกายหลังจากเสียเลือดไปแล้ว..ซึ่งทางสภากาชาดได้เตรียมไว้สำหรับผู้รับบริจาค ทุกท่าน..อ้อ แถมยาดมให้ด้วยค่ะ..เผือ่วิงเวียนศีรษะ


เห็นไหมคะ..บริจาคเลือดไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ถ้าเราเตรียมร่างกายให้พร้อม  ส่วนเลือดที่รับบริจาคมา ทางโรงพยาบาลก็จะนำมาเก็บไว้ในธนาคารเลือดของโรงพยาบาล เพื่อใช้ในผู้ป่วยที่ต้องการเลือดทั้งในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลใกล้เคียง..ซึ่งต้องขอขอบคุณหน่อยงานต่าง ๆที่ร่วมกันบริจาคเลือด ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียนต่าง ๆในอำเเภอ ส่วนราชการต่าง  ๆ ตำรวจ ทหาร อบต .รวมทั้งชาวบ้านในชุมชน ที่ร่วมกันบริจาคเลือด..ซึ่งเป็นการให้ทานยิ่งใหญ่เลยค่ะ..


มีเรื่องประทับใจจากน้อง ๆ  ที่มาบริจาค มาเล่าด้วยค่ะ มีน้องคนแรก  น้ำหนักและอายุ่ผ่าน แต่ความดันโลหิตต่ำ เลยแนะนำเรื่องออกกำลังกายและไว้โอกาศหน้าค่อยมาบริจาค ผ่านไป  30 นาที เค้าเดินเหงื่อซิกมาถาม ..พี่คะ..หนูไปวิ่งมา ความคงขึ้นแล้วบริจาคได้มั้ยคะ..แห ๆ น้องจ๋า..แบบนี้ไม่ได้หรอกจ้า..เดี๊ยวน้องจะเป็นลม แค่น้องตั้งใจบริจาค..ก็เป็นจิตกุศลแล้วค่ะพี่ขอชื่นชม.. ส่วนอีกคนก็เช่นกัน วัดความดัน 3 รอบ ก็สูงตลอด  ก็มาอ้อน ๆ พี่คะ..ไม่ได้หรอ หนูอยากบริจาคจริง ๆ นะ.. แหะ ๆไม่ได้จ้าน้อง ..มีการแซวน้องเล็ก ๆน้องลดหุ่นสักนิดนะคะ ออกำลังกาย งดอาหารมัน ๆ ปีหน้าพี่จะมารับบริจาคใหม่นะคะ... รายสุดท้าย เป็นชายหนุ่ม.. มาถึง พี่ ๆไหนว่าจะโทรหาผม... เหอ ๆ น้องค่ะ..โทรหาเรื่องอะไรหรอ..พี่ยังงง ๆ ...อ้าว ปีที่แล้วผมจะบริจาคแล้วมาไม่ทัน...พี่บอกว่าจะแจ้งว่า..จะมารับบริจาคเมื่อไรอีก...แหะ ๆ พี่ขอโทษค่ะ...ตั้ง 1 ปีแล้ว...พี่ลืมไปแล้ว..แต่พี่จำได้ว่าไม่ได้ขอเบอร์น้องไว้ที...*-*...รับบริจาครอบนี้มีน้อง ๆหลายคนเป็นลม ..อาจเกิดจากการลุกจากเตียงเร็ว แล้ววิ่งเล่นแซวคนโน้นคนนี้ที และเร่มจะเที่ยง..อาจทำให้อ่อนเพลียได้ แต่หลังจากนอนพัก 20-30 นาที ทุกคนก็ลุกขึ้นมาเฮฮาและแกล้งคนที่ยังไม่บริจาคได้ต่อไป..ทำให้คนอื่น ๆกล้าบริจาคเพิ่มขึ้น


         ที่นี้..ก็ไปร่วมบริจาคเลือดกันได้แล้วยังคะ...


 อ้อ..เริ่มบริจาคเลือดได้เมื่ออายุ 17 ปีขึ้นไปและน้ำหนักไม่ต่ำ 45 กิโลกรัม ค่ะ


 ด้วยรัก...สาวน้อยบ้านสวนพอเพียง


 

ความเห็น

ดีเลยน้องน้อยนำเรื่องดี ๆ ให้ได้ทำบุญร่วมกันมาฝากอย่างนี้ ... แถมกรณีตัวอย่างที่อยากบริจาคมาก ๆ มีเทคนิคเยอะเลยนะคะ

รูปสุดท้าย น้องเค้าโดนบังคับให้สู้หรือป่าวครับพี่5555 หน้าเริ่มเขียวแล้ว

ถ้าชีวิตไม่สิ้นก็ต้องดิ้นกันต่อ

E-mail : pinit25@hotmail.com

ตอนก้อยไปบริจาค ไม่เจอว่าต้องหยดในน้ำยาสีฟ้าๆที่ดูว่าเลือดจมหรือลอย มาหลายปีแล้วเหมือนกันค่ะ  มีแต่เค้าเอาไปใส่เครื่องอย่างเดียวอ่ะค่ะ (หรือว่าแต่ละที่ไม่เหมือนกันคะ)

แถมธาตุเหล็กยังได้ทีละ 30 เม็ด กินกันจนเบื่อกันไปข้างนึงเลยค่ะ

ตอนเป็นเด็กๆก็บริจาคที่โรงเรียน พอเข้ามหาวิทยาลัย ส่วยใหญ่ป๊า (ลุงพูน) จะพาไปที่โรงบาล หลังๆนี่ ป๊าบอกขับรถไปเองแล้วกันลูก - -"

ที่โรงบาลวชิระภูเก็ต เค้ามีบริการส่งข้อความมาเตือนด้วยค่ะ ว่าครบกำหนดแล้วนะคะ อะไรแบบนี้

ถ้ารู้จักพอดี....ทุกอย่างก็ดีพอ

ที่น้องก้อยบอก เครื่องมือเค้าทันมัยกว่าค่ะ...ที่นี่ยังใช้แบบหยดทดสอบค่ะ...เป็นการทดสอบเหมือนกันค่ะ...

ชีวืตที่เพียงพอ..

เวลาบริจาคแล้วบีบฟองน้ำเร็วๆ บริเวณที่เข็มเจาะจะมีรอยคล้ำๆ สีม่วงเกิดจากอะไรครับเป็นอยู๋เกือบสัปดาห์แล้วค่อยๆจางหายไป

ถ้าเดินเรื่อยไป ย่อมถึงปลายทาง

 นำคำตอบจาก ข้อมูลมูลนิธิหมอชาวบ้านมาตอบให้ค่ะ รอยช้ำที่เกิดเส้นเลือดดำบริเวณแขนที่เจาะมีขนาดเล็กและเปราะ น่าจะเส้นเลือดดำแตกและมีเลือดออกนอกเส้นเลือดดำ ในระหว่างการบริจาคจึงทำให้เขียวช้ำ และรู้สึกเจ็บ หลังจากนั้นอาการเขียวช้ำนี้อาจเกิดขึ้นได้ แต่จะไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด โดยปกติอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นและหายเป็นปกติใน ๕-๗ วัน

ชีวืตที่เพียงพอ..

ยังไม่เคยไปบริจาคสักครั้งเลยพี่น้อย..กลัวเขาไม่เอา..เข้าข่ายไขมันในเลือดสูงนะพี่..55555

 

อย่างสิทนี่..ผ่านโลด...ครั้งแรก ต้อง 1 ลิตรเลย...จะได้ผอมไว ๆ...ล้อเล่นจ้า เค้าจะรับ แค่  ครึ่งลิตร  เท่านั้นแหละ

ชีวืตที่เพียงพอ..

มาเป็นกำลังใจค่ะ...


ยังไม่เคยบริจาคเลยค่ะ..(น้ำหนักไม่ถึงเกณฑ์ :sweating:


 

....ความสุขอย่างแท้จริง ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง....

ตาชั่งเครื่องนั้นคงใช้ไม่ได้แล้ว...ลองดูสักครั้งต่ะ...แล้วจะติดใจ...:cheer3:

ชีวืตที่เพียงพอ..

หน้า