ข้อสอบวิชา การทำไร่
ในอดีต ... การทำไร่ข้าว ... เป็นวิชาที่เด็ก ๆ ผู้ชายในชุมชน ต้องเรียนรู้ และ "สอบปากเปล่า ..."
ฮึ ๆ ๆ ... หากข้าพเจ้า ยืนอยู่เบื้องหน้าท่าน ... ท่านคงถามซีนะว่า “โม้ ... ป่าว ?”
“เปล่าโม้” ... แม้ชั้นเด็กผู้หญิง ก็เหอะ ... ในสมัยนั้นเขาก็ต้องเรียน และสอบให้ผ่าน เช่นกัน เพียงแต่วิชาที่เด็กผู้หญิงเรียน คือ “วิชาคหกรรมศาสตร์"
ครูผู้สอน คือ “ผู้ใหญ่อันเป็นสมาชิกของชุมชน”
กรรมการ ผู้ออกข้อสอบ ... ตรวจ และตัดสินผลการสอบ ... ก็คือ “กลุ่มเพื่อน ๆ” ที่นั่งล้อมคอยจับผิด ขณะเราสอบ เช่น เขาออกข้อสอบว่า “ทำไร่” หากผู้เข้าสอบ เริ่มต้นว่า “ขั้นแรกถางป่า” ก็คงมีกรรมการ สักคน ขัดขึ้นมาแหละ ว่า “เอา ... แหลวหมึง ... ลับพร้าหมอหรือ?” (ลับพร้าเมื่อไหร่) ... เหล่านี่เป็นต้น
วันนี้ ... ข้าพเจ้า ขอทำแบบทดสอบนั้นอีกหน ... แต่ขอเปลี่ยนคณะกรรมการ จากเพื่อน ๆ มาเป็นทุกท่านที่อ่าน บล็อกนี้ ...
เอา ... เชิญท่านสดับ ... คนแก่ ... จะย้อนอดีต อีกแล้วครับ
เริ่มกระบวนการ โดยการ “แผ้วถาง” (ไม่ต้องเอาถึงขั้น หาเหล็ก ไปตีพร้า ตีขวาน นะคราบ) ... คือ ลงมือถาง ตัด ไม้เล็ก ๆ ... หลังจากถางเสร็จ จึงเริ่มโค่นไม้ใหญ่ ลงทับไม้ที่ถางไว้ตอนแรก แล้วตัดกิ่งที่โด่เด่ ให้ยุบลง เพื่อเวลาเผา จะได้เหลือเศษไม้น้อยที่สุด ... สองขั้นตอนนี้ เจ้าของไรมักจะทำคนเดียว ไม่ค่อยมีการลงแรง
หลังจาก ตากไม้ ที่แผ้วถางไว้ระยะหนึ่ง ให้แห้ง ... ก็ทำแนวกันไฟ ... แล้วบอกกล่าวกำหนดจะจุดเผา ให้เพื่อนบ้านทราบทั่วกัน ... ถึงกำหนดนัด ... เพื่อนบ้านก็จะร่วมด้วย มาช่วยกัน พร้อมอุปกรณ์สู้ไฟ กรณีย์ไฟลามออกนอกไร่ ... ถึงคราเพื่อนเขาเผาของเขา เราก็ไปช่วยเช่นกัน
เสร็จงานเผา ไม่กี่วัน ... งานใหม่ของครอบครัว คือ ... เก็บไม้ ที่ยกไหว กองรวมเป็นกอง ๆ เราเรียกขั้นตอนนี้ว่า “ปรนไร่” ... ตอไม้เล็ก ๆ ที่ติดไฟไม่หมด ก็ถูกสับ โยนเข้าในไม้ที่รวมกอง ซึ่งเรียกว่า “กองปรน” ... ขนไม้เข้ากอง ... พอห่างไป ต้องเดินไกลขึ้น ก็เริ่มกองใหม่ ... กองเก่าหากแห้งก็จุดเผา เลย ถ้ายังชื้น ก็ตากทิ้งไว้ก่อน
ถ่านจากกองปรนที่เกิดจากการเผา เรามักจะหาอะไร ต่อมิอะไร มาโยนใส่ เข้าไป เรียกว่า “หมก” ... สิ่งที่หมก มีหัวมันเป็น พระเอก ... อื่น ๆ ... ตามชอบ
สำหรับ ข้าพเจ้า ... ชอบเดินหาหน่อไม้ไผ่ป่า ขนาดประมาณนิ้วโป้งเท้าผู้ใหญ่ ที่เพิ่งงอกขึ้นมาหลังจากเผาไร่แล้ว ... เจอ ... ถีบให้หักล้ม ... เก็บมาโยนใส่กองปรน .... ได้เวลา เขี่ยออกมา ... รวม ๆ กันไว้ ... ถึงเวลา อาหาร ... นำมาแกะกาบออก กินเท่าไร ก็ปอกเท่านั้น ... จิ้มน้ำพริกมะอึก ... หรือน้ำพริกเปรี้ยว ๆ ... ฮึ ๆ ๆ ... อยากกินอีกน่ะ!
เหลือจากกินที่ไร่ .... ห่อใบตองกลับบ้าน ... จะกินก็ปอกเอา ... ไม่ต้องพึ่งตู้เย็น ... ฮึ ๆ ๆ
ช่วยกัน ปรน เผา ... จนไร่ปราศจาก ท่อนไม้ และ ตอไม้ ชิ้นเล็ก ... เหลือไว้ ขอนและตอ ใหญ่ ๆ ... จริง ๆ แล้ว ไม่อยากเหลือไว้หรอกครับ แต่ขนลากไม่ไหว ตอไหนกะว่าจะเผาหมด ก็วางกองปรนทับลงไป แล้วเผา ที่ใหญ่มาก ๆ ก็ต้องปล่อย
ที่ชื่นชอบของเด็ก ๆ อีกอย่าง ในไร่ คือ กิ่งไม้ติดขอน ที่ทอดเอน โด่เด่ อยู่ ... เราจะปีนขึ้นไปนั่งคร่อม (ไม่สนใจเขม่าดำ ๆ แม้แต่น้อย) ... นั่งถนัดแล้ว ... เริ่มขย่ม ให้กระดกขึ้นลง เหมือนควบม้า ... แต่อยู่กับที่ เรียกว่า “ขี่ขวิดโหยง” (สุราษฎร์ฯ) บางพื้นถิ่น เรียก “ขี่หยับโหยง”
ควบไป ... ร้องเพลงประกอบจังหวะการควบไป ... เพลงของแต่ละพื้นถิ่น ไม่เหมือนกัน ... อย่างของพวกข้าพเจ้า ที่ Hit สุด ๆ ก็มีเนื้อ ดังนี้
“ขวิดโหยง ... ขวิดโหยง ... แหม โก่งโข่ง ... ถากย้า ... ทำงาน
ลูกขี้ขร่าน ... หนีไปเข .... ขวิดโหยง...”
ร้องวนเวียน อยู่อย่างนี้แหละ จนเบื่อ หรือถูกเรียกลงไปใช้งาน
แปลความได้ว่า “ขวิดโหยง(กิ่งไม้ที่ขี่อยู่) แม่กำลังโก้งโค้ง ... ถากหญ้า ... ทำงาน ... แต่ลูกขี้เกียจ ... หนีไปขี่ ขวิดโยง”
ทำนองไปหาใส่กันเอาเอง ... ใครที่เคยร้อง ก็รู้ทำนองดี ... จิง .. เป่า ...
จากเพลง ขวิดโหยง จะพบกิจกรรมทำไร่ อีกประการคือ การขจัดวัชพืช เรียกว่าการ “ทำหญ้า” ... คือ สาวเถาวัลย์ - ถอน – ถาก – ดาย วัชพืช ออกไปจากพื้นที่ ที่จะใช้ปลูกข้าว ... เขาทำกันจนเกลี้ยงเกลาจริง ๆ
ที่น่าประทับใจ ของขั้นตอนนี้ คือ การช่วยเอาแรง ... บ้านข้าพเจ้า เรียกว่า “ซอ” ... เรื่องการซอนี้ ข้าพเจ้าเคยเล่าไว้ครั้งหนึ่งแล้ว จะไม่เล่าซ้ำ ให้เบื่อกัน
ทำหญ้า เสร็จ ... พื้นที่ไร่ ... พร้อมรับเมล็ดพันธุ์ ธัญพืช ... แล้วละครับ
ต่อไปก็ถึงขั้นตอนของการปลูกแล้วครับ ... เป็นการปลูกด้วยวิธี ทำหลุม แล้วหยอดเมล็ดพันธุ์ ... ซึ่งบ้านข้าพเจ้า (สุราษฎร์ฯ) เรียกขานกันว่า “น่ำข้าว”
... น่ำข้าว ข้าพเจ้าชอบมาก ๆ ครับ สนุก มาก ยากจะลืม
ตอนแรก ตั้งใจจะทำข้อสอบ จนถึง ข้าวในไร่ สุก เก็บเกี่ยว ผล และกิจกรรมของเด็ก ๆ รวมถึงข้าพเจ้า ตอนเขาเก็บข้าว
แต่ ... ย้อนกลับขึ้นไปอ่านที่เขียนมา ... โอโฮ ... ยาวไปแล้ว นะนี่ ...
คงต้อง พักไว้ก่อน ละนะ ... เดี๋ยวจะเบื่ออ่านกันแย่ ....
หากสน ... ก็จะมาต่อให้ ... ขอ Check rate ก่อน ...
หวัดดี คราบ ...
- บล็อกของ paloo
- อ่าน 5023 ครั้ง
ความเห็น
สมจิต
18 มกราคม, 2012 - 12:03
Permalink
Re: ข้อสอบวิชา การทำไร่
คุณลุงหน่อไม้ไม่ต้มก่อนมันไม่ขมหรือคะ หรือว่าเป็นหน่อไม้ที่ไม่ขมคะ
paloo
18 มกราคม, 2012 - 12:12
Permalink
Re: ไม่ต้ม ครับ ไม่ต้ม
หน่อไม้ ที่นำมาเล่านี้ ไม่ต้มนะครับ ...
ถีบเอา (การถีบเอา จะได้ส่วนที่อ่อน ไม่เหมือนขุด) ได้มาโยนเข้ากองไฟ สด ๆ เลย ... หอม อร่อย
โอ้ย ... น้ำลายไหล
อารีย์_กำแพงเพชร
18 มกราคม, 2012 - 12:08
Permalink
Re: ข้อสอบวิชา การทำไร่
ชอบอ่านที่ลุงเขียน แต่ต้องไปประชุมที่ตำบลอื่นก่อน กลับมาจะมาอ่านใหม่อีกรอบค่ะคุณลุง ชอบรูปลุงกับป้าจังเลยค่ะ
แบ่งปัน สร้างสรรค์ พอเพียง
paloo
18 มกราคม, 2012 - 12:14
Permalink
Re: ขอบคุณ คราบ
ขอบคุณ ครับ ขอบคุณ ...
จะพยายาม หาคุณค่าสาระ มานำเสนอ ให้คุ้มกะเวลาของผู้อ่าน ครับ
ธนนันท์
18 มกราคม, 2012 - 12:09
Permalink
Re: ข้อสอบวิชา การทำไร่
หลานนันมา...เข้าคิวให้ลุงพุงโล..เช็คเรต.. ค่ะ...จะได้อ่านต่อไว ๆ อย่าช้านะคะ..แล้วอยากรู้ต่อว่า ณ ปัจจุบัน ยังกระโดดถีบหน่อไม้..ไหว..มั๊ยคะ?
paloo
18 มกราคม, 2012 - 12:18
Permalink
Re: ขอบคุณจ้า
ขอบคุณครับ ...
เดี๋ยวนี้ สบายมาก ... เพราะน้ำหนักมากขึ้น หน่อไม้ก็หักง่ายซี
เด็ก ๆ ลุงใช้วิธี เอาเท้าเหยียบเอา ... เขาอ่อนแค่ไหน ก็หักแค่นั้น
หน่อไม้ที่ได้ ... จึงไร้กาก เส้นใย
ยุพิน
18 มกราคม, 2012 - 12:51
Permalink
Re: ข้อสอบวิชา การทำไร่
แก่เลี้ยวจริงๆ ลุงพะโล้. อย่าลืม"น้ำใบย่านาง" ของแท้ หากจะต้มยำทำแกงหน่อไม้ ต้องใส่เข้าไปด้วยกันค่ะ เขียนต่อนะนะนะ
paloo
18 มกราคม, 2012 - 13:06
Permalink
Re: ตรงไป ... ไม่เลี้ยว
"แก่เลี้ยวจริงๆ ลุงพะโล้"
ฮึ ๆ ๆ ... ผิดแล้วหลานยุเอ้ย ... ลุงนะแก่ตรงไป ... ไม่ใช่แก่เลี้ยว ... ฮุ ๆ ๆ
ใบย่านาง Vs หน่อไม้ ... เลียนแบบเกลือ จิ้มเกลือ แหละ
แต่ ... กรณี ที่ลุงเล่า เผาสด ๆ แล้วเอาออกมากิน ไม่นำไปผ่านกระบวนการอื่นอีก ...
ขอบคุณ ที่แนะนำ ... จะได้ไม่ลืม เวลาเข้าเมนู หน่อไม้
แดง อุบล
18 มกราคม, 2012 - 13:39
Permalink
Re: ข้อสอบวิชา การทำไร่
อ่านเพลินเลยค่ะ :bye:
"เชื่อในผล แห่งการทำความดี"
paloo
18 มกราคม, 2012 - 14:00
Permalink
Re: ข้อสอบวิชา การทำไร่
ขอบคุณครับ ... ขอบคุณ
หน้า