ความทรงจำนอกมิติ
หมวดหมู่ของบล็อก:
Keywords:
ความทรงจำนอกมิติ
หมดทางช่วยคนเป็นนักวัตถุนิยมจ๋า
10 พฤษภาคม 2552
นพ.ประสาน ต่างใจ
คนที่เรียนมาทางวิทยาศาสตร์ แม้แต่คนที่เรียนมาทางวินัยที่เรียกกันว่าวิทยาศาสตร์สังคม ในประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศที่เพิ่งพัฒนาใหม่ๆ รวมทั้งอาจารย์ของมหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ ที่เรียนจบมาจากเมืองนอก-หากจบมาก่อนช่วงต้นๆ ของทศวรรษที่ 1990-โดยเฉพาะผู้ที่เรียนจบมาทางชีววิทยาหรือมีวิชาชีววิทยาเป็นพื้นฐาน เช่น แพทยศาสตร์ มักจะเป็นนักวัตถุนิยมจ๋ากันแทบทั้งหมด ที่ไม่ทั้งหมดคือ ยกเว้นคนที่จบมาและได้ทำงานวิจัยทางด้านฟิสิกส์ใหม่ หรือแควนตัมเมคานิกส์ ผู้เขียนเป็นแพทย์จึงเรียนมาทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งตอนนั้นในบ้านเรามีเพียงอย่างเดียวคือวิทยาศาสตร์กายภาพ โดยเฉพาะชีววิทยา-ทั้งทางรูปกายและหน้าที่หรือสรีรภาพ-เป็นฐาน ดังนั้นจึงอยู่กับหลักการวัตถุนิยม (materialism) มาตลอดเวลา จนกระทั่งมีอายุประมาณห้าสิบห้า ห้าสิบหกปี หลังจากได้อ่านหนังสือที่หนักๆ-ที่เขียนโดยนักวิทยาศาสตร์ระดับนำของโลก-มาก ขึ้นมาเรื่อยๆ นับจนถึงวันนี้ก็คงไม่ต่ำกว่าสองพันเล่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแควนตัมฟิสิกส์ จักรวาลวิทยาใหม่ จิตวิทยาหรือวิทยาศาสตร์ทางจิต อภิปรัชญาและศาสนา ซึ่งหลังจากได้อ่านหนังสือมากขึ้นเรื่อยๆ คิดมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงได้เชื่อมั่นโดยมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่พร้อมมูลว่าจิตมี จริง แถมยังควบคุมรูปกายเสียด้วย ผู้เขียนจึงเริ่มหมดศรัทธากับหลักการวัตถุนิยมมากขึ้น และเมื่อมาถึงตอนนี้และวันนี้อาจจะพูดได้ว่า ผู้เขียนเป็นผู้ต่อด้านหรือคัดค้านต่อหลักการวัตถุนิยมหรือแมทีเรียลลิสม์ ซึ่งมีวิทยาศาสตร์กายภาพเป็นรากฐานเพียงประการเดียวอย่างรุนแรงและครบวงจร
เราแทบจะทุกคนในโลกเช่นเดียวกับคนไทยในบ้านเรา อาจจะเชื่อถึงหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มว่า ความยุ่งยากหรือปัญหาจำนวนมากหรือแทบทั้งหมดเลย ล้วนเกิดจากคนที่ไม่รู้จริงหรือคนที่แสนจะฉลาดหลักแหลมที่รู้ดีมากๆ เฉพาะแต่เรื่องที่ตนเรียนมาเท่านั้น-ไม่ว่าจะลึกล้ำสักแค่ไหน?-แต่จะไม่รู้ อะไรที่ตนไม่ได้เรียนมาหรือรู้อย่างครึ่งๆ กลางๆ นั่นคืออวิชชาที่คนหรือนักวิชาการทั้งหลายที่ได้ผลิตสร้าง หรือก่ออันตรายอย่างที่สุดให้แก่โลก อาจจะมากกว่าตัณหาหรือโลภโกรธหลงด้วยซ้ำ หรือเป็นส่วนที่คลุกเคล้าอยูกับตัณหาหรือ "ตัวกูของกู" จนแยกยาก ผู้เขียนเชื่อจริงๆ ว่าปัญหากับวิกฤติทั้งหลายทั้งปวงของโลก ของสังคมประเทศชาติ วัฒนธรรมและศาสนาทั้งโลกโดยไม่มียกเว้น มีอวิชชาเป็นส่วนที่สำคัญและจะสำคัญมากขึ้นและมากขึ้นไปตามวันเวลาของระบบ การศึกษาของเรา-ซึ่งมีแต่จะลงลึกเพียงด้านเดียว โดยมุ่งเฉพาะเพื่อบริการระบบเศรษฐกิจทุนนิยม "ตัวใครตัวมัน" หางานและหาเงินยังกับว่าโลกนี้มีกูเป็นใหญ่แต่ผู้เดียว นั่นคือระบบการศึกษาของโลกและของไทยเราในปัจจุบัน ซึ่งแตกแขนงออกไปย่อยแล้วย่อยอีกจนแทบไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้คนทั่วไปโดยเฉพาะคนในประเทศที่มีสถิติการอ่านหนังสือต่ำ เช่น เพียงสี่เล่มต่อปีอย่างประเทศไทยถึงได้มีแต่อวิชชา แล้วคนไทยจะรู้อะไร? นอกสายงานของตัว เพราะคนที่พอจะรู้อะไรบ้างจะต้องอ่านหนังสือที่มีเนื้อหาสาระ ซึ่งไม่ใช่เป็นสาขาหรือสายงานของตัวเองอย่างน้อย 12 เล่มหรือเดือนละหนึ่งเล่ม เพราะฉะนั้นคนที่เรียนและรู้ลึกเฉพาะเรื่องทางกายวัตถุด้านเดียว เรียนรู้มาแต่รูปร่างหรือวิทยาศาสตร์กายภาพอย่างเดียวมานานตั้งหลายร้อยปี คลุกคลีอยู่แต่เรื่องของกายวัตถุที่เชื่อมั่นว่าเป็นความจริงแท้ทั้งหมด เพราะตาของมนุษย์มองเห็นเช่นนั้น เลยคิดว่าโลกนี้จักรวาลนี้มีแต่มนุษย์เท่านั้นเพียงเผ่าพันธุ์เดียวที่มี วิวัฒนาการของสมอง (กาย) สูงที่สุด จึงต้องถูกต้องที่สุด ฉะนั้นผู้เขียนจึงกล่าวว่าที่เราบางคนเชื่อว่ากายวัตถุเพียงอย่างเดียว เท่านั้นที่เป็นความจริงแท้ทั้งหมด นั่นคืออวิชชาที่พาให้เราต้องตกเหวตายตามที่มนุษย์เรากำลังเผชิญหน้าอยู่ใน ขณะนี้
ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เพื่อนที่เป็นนักการศึกษาและเป็นอดีตครูของกระทรวงศึกษาธิการได้พูดถึงโฮ เวิร์ด การ์ดเนอร์ นักการศึกษาและนักจิตวิทยาวิวัฒนาการจากฮาร์วาร์ด ที่เขียนหนังสือเรื่องของเด็กในช่วงแห่งการเจริญเติบโต-ว่าเป็นอิทธิพลของ จิตที่เป็นไปเอง จึงควบคุมไม่ได้ (Howard Gardner: Unscheduled Mind, 1991)-ซึ่งในช่วงดังกล่าวเด็กจะรักตัวเองและหลงตัวเองอย่างไม่น่าเชื่อ (egocentric) ซึ่งเป็นไปเองโดยธรรมชาติ แล้วจะหายไปเองเมื่อเด็กคนนั้นๆ เจริญเติบโตขึ้น และฉลาดพอที่จะรู้จ้กการสะท้อนความสำคัญของตัวเองเข้าสู่ภายใน ดังนั้น ความฉลาดของมนุษย์จะเป็นไปเองโดยธรรมชาติของวิวัฒนาการ ดังนั้น ที่เพื่อนของผู้เขียนคิดว่าสติปัญญาความฉลาดเป็นเรื่องธรรมชาติของ วิวัฒนาการ จึงได้พยายามจัดการอบรมให้ครูทั้งหลายของกระทรวงศึกษาธิการให้เข้าใจว่า "พหุปัญญา" (หรือ multiple intelligences โดยแปลคำว่า intelligences ว่าเป็นปัญญา) เป็นสิ่งถูกต้องจึงคิดว่า พยายามชักนำให้กระทรวงศึกษาธิการเอาด้วย เผื่อว่าจะให้ครูทั้งหลายเข้าใจว่า สติปัญญาความฉลาดของมนุษย์เป็นเรื่องเดียวกันกับปัญญาที่มีในทางพุทธศาสนา (intuition ซึ่งเป็นที่มาของ wisdom) ซึ่งเรื่องเช่นนั้นจะเป็นเรื่องที่ผิดอย่างมหันต์และจะไปกันใหญ่ ซึ่งผู้เขียนไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง จริงอยู่ที่สติปัญญาความฉลาดหรือความฉลาดเฉยๆ คือศักยภาพของสัตว์โลกและของมนุษย์ ทั้งยังเป็นธรรมชาติของวิวัฒนาการ แต่ไม่ใช่จะเข้าใจว่ามันจบลงแค่นั้น มันต้องต่อไปว่าวิวัฒนาการของอะไร? ผู้เขียนเชื่อว่าเราอาจจะสับสนกันตรงนี้ ผู้เขียนคิดว่าความฉลาดเป็นเรื่องของวิวัฒนาการทางชีววิทยาของสมอง ซึ่งเป็นการเจริญเติบโตทางกายภาพ ไม่ใช่ปัญญาที่เป็นวิวัฒนการของจิต หนังสือหลายเล่มที่โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ เขียนในช่วงหลังจากที่เรียนเป็นนักสรีรประสาทวิทยา (neurophysiologist) เป็นต้นมา ผู้เขียนคิดว่าโฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ ค่อยๆ เปลี่ยนตัวเองจากนักวิทยาศาสตร์ทางจิต-เคยเชื่อในเรื่องของจิตและการเกิด ใหม่-เป็นนักวัตถุนิยม (materialist) เต็มตัว คือเป็นไปตามสาขาวิชาที่ตนเรียนใหม่ หนังสือที่การ์ดเนอร์เขียนในตอนหลัง (Shattered Mind; Multiple Intelligence; Intelligence Reframed) รวมทั้งที่การ์ดเนอร์มาเมืองไทย ซึ่งดูจะเกี่ยวกับการอบรมครูของบ้านเรา ผู้เขียนไม่ได้เข้าฟังเขาพูดเพราะคิดว่าค่าฟัง 3,000 บาทแพงเกินไป
นักวัตถุนิยมจ๋า เช่น เดเนียล เดนเนต นักเขียนและนักปรัชญาชื่อก้องของโลก หรือฟรานซิส คริก ผู้ร่วมค้นพบการเรียงตัวของดีเอ็นเอในจีโนมส์ร่วมกับ เจมส์ วัตสัน ที่ได้รางวัลโนเบล หรือริชาร์ด ดอว์สัน นักเขียนนักสัตวศาสตร์ชื่อดัง หรือสตีฟ พิงค์เตอร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการรู้และการคิด (Cognition) จากฮาร์วาร์ดที่ได้เขียนเมื่อเร็วๆ นี้ลงในไทม์สแมกกาซีน (Times Jan.1 2007) ว่านักประสาทวิทยาศาสตร์และตัวเขาเองเชื่อว่า...จิตไม่มีจริงและไม่อยู่ใน สมอง "จิตเป็นเพียงการทำงานของสมอง" นั่น-พิงค์เตอร์รู้ได้อย่างไร? ทั้งๆ ที่เขาเขียนในบทความเดียวกันว่า "จนบัดนี้ก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าทั้งสองปัญหา (จิตคืออะไร? และหากมี-มันอยู่ที่ไหน?) นั้นก็ยังคลี่คลายไม่ได้ (Mario Beuregard: Spiritual Brain, 2008) ยิ่งแล้วใหญ่ที่ฟรานซิส คริก ได้เขียนไว้ในหนังสือ (Astonishing Hypothesis, 1995) ว่ามันไม่มีหรอกที่เราพูดกันในเรื่องคุณธรรมและความหมาย หรือฟรีวิล (freewill) พฤติกรรมทั้งหมดเป็นการพัฒนาจากการเอาตัวรอด-วิวัฒนาการทางชีววิทยาของสมอง
แต่ผลการวิจัยหลายหลากในปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่ชี้ว่าจิตนั้นมีจริง และแถมยังควบคุมกายหรือวัตถุเสียด้วย ดังนั้นเรื่องจริงที่มีคนได้ถ่ายวิดีโอมาและเอามาออกรายการโทรทัศน์ไปทั่ว โลก รวมทั้งที่บ้านเราที่ผู้เขียนได้ดูและเชื่อว่า ผู้อ่านหลายคนได้เห็นภาพที่ชายฝรั่งรูปร่างใหญ่ได้ช่วยลิงชิมแปนซีที่กำลัง จะจมน้ำตายเอาไว้ได้ ทั้งที่ลิงตัวนั้นอาจทำร้ายชายคนนั้นถึงตายก็ได้ "ผมไม่ทันได้คิดอะไรในช่วงนั้น...นี่เป็นชีวิตที่กำลังจะตาย...และผมต้อง ช่วย" ที่น่าประทับใจ และหวังว่าฟรานซิส คริก คงได้เห็นก็คือว่า ลิงที่ชายผู้นั้นช่วยไว้ได้หลังจากที่ได้ฟื้นคืนสติแล้ว ยังคงนั่งที่ริมสระน้ำแห่งนั้น พร้อมทั้งมองดูคนที่ช่วยชีวิตตนไว้ตั้งนานแสนนานกว่าที่จะเดินกลับไป ผู้เขียนเชื่อว่าเหตุการณ์ทั้งหมดนั้นมีคุณธรรมและความหมาย และคุณธรรมกับความหมายนั้นเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ (spirituality) ที่ผู้เขียนเชื่อว่าเป็นเป้าหมายของมนุษย์ หรือคำพูดของประสาทวิทยาศาสตร์ สตีเวน พิงค์เตอร์ ที่ลงในไทม์สแมกกาซีน ที่กล่าวมานั้นว่า
"ทันทีที่สรีรภาพของสมองหยุด สิ่งที่เราเรียกว่าจิตก็ไม่ดำรงอยู่อีกต่อไป" ชะรอยพิงค์เตอร์จะไม่ได้อ่านผลงานวิจัยและรายงานผู้ป่วยที่ตายทางคลินิก (Clinical Death) ด้วยโรคหัวใจจำนวน 344 ราย ที่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ช่วยให้ฟื้นขึ้นมา (resuscitate) และทุกคนเล่าว่าตนมีประสบการณ์ใกล้ตาย (NDEs) ที่เหมือนกันโดยหลักการ (Pim van Lommel: About the Continuity of Our Consciousness, 2004)
ที่อย่าว่าแต่คลื่นหัวใจ (EKG) เลย แม้แต่คลื่นไฟฟ้าของสมอง (EEG) ก็ไม่มีปฏิกิริยาใดๆ คือแบนราบเป็นหน้ากลองตลอดเวลา นอกจากประสบการณ์ใกล้ตาย ผลงานวิจัยอื่นๆ อีกมากมายเป็นต้นว่าเรื่องของความรู้เหนือธรรมชาติ (psi) เรื่องของการทำงานของยาหลอก (placebo) ฯลฯ ต่างล้วนแล้วแต่บ่งชี้ว่าจิตนั้นมีจริงและสำคัญกว่ากาย คือยังคุมกายเสียด้วย ดีน ราดิน นักวิทยาศาสต์รที่วิจัยความรู้ความสามารถเหนือธรรมชาติ (psi) ร่วมกันกับโรเจอร์ เนลสัน แห่งมหาวิทาลัยปรินซ์ตัน ที่นักวิทยาศาสตร์ไทยบางคนรู้จักดี เพราะประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่ร่วมในโครงการจิตตาโลกานุวัตรของ มนุษย์ (Global Human Consciousness Project) ซึ่งเป็นโครงการที่ เคน วิลเบอร์ เชื่อว่าอาจจะสำคัญกว่าโครงการแผนที่จีโนมส์ (Human Genomes Project) ของมนุษย์ที่เพิ่งเสร็จไปเมื่อเร็วๆ นี้เสียอีก ดีน ราดิน ได้ขอร้องให้นักฟิสิกส์ใหม่ส่วนนำเลิกที่จะคิดว่า แควนต้มฟิสิกส์เป็นเพียงทฤษฎีทางนามธรรมที่น่าสนใจ แต่ไม่มีความสำคัญอะไรกับมนุษย์เลย แต่ขอให้นักฟิสิกส์พยายามติดตามความก้าวหน้าใหม่ๆ เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นผลงานวิจัยอันหลากหลายที่ให้ความจริงทั้งทางห้องปฏิบัติการและทาง คณิตศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัวพันกันทางแควนตัม (entanglement) ของจักรวาล ที่ขยายขอบเขต (scale-up) จากระดับที่เล็กละเอียดสู่ระดับใหญ่ๆ ที่สามารถรับรู้ได้ในโลกที่หยาบใหญ่ (macroscopic world) เรารู้ดีว่าในทางวิทยาศาสตร์และความรู้ทั้งหลายที่เรามีทั้งหมดกระทั่งถึง ปัจจุบันวันนี้ ความจริงแท้ที่สุดในโลกเท่าที่มนุษย์เรียนรู้มา มีอยู่เพียงสองอย่างเท่านั้นคือ แควนตัมอิเล็กโทรไดนามิกส์ ซึ่งให้ความจริงที่สุดเท่าๆ กับทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์นั้น ดีน ราดิน บอกว่า ด้วยแควนตัมฟิสิกส์ สิ่งตางๆ ที่เห็นหรือรับรู้ทั้งหมดในโลกในจักราล หรือที่ว่างและเวลาแห่งนี้ในรายละเอียดที่สุด มันไม่ได้เป็นวัตถุสสาร แต่มันจะเป็นแต่คลื่นแห่งความเป็นไปได้เท่านั้น และทันทีที่เราไปตรวจจับวัดมัน คลื่นแห่งความเป็นไปได้นั้นก็จะถูกสังเกตโดยจิต (consciousness) เปลี่ยนไปเป็นวัตถุสสารหรือเป็นคลื่นความถี่ที่มีคว่ามถี่คลื่น คือเป็นไปตามเครื่องมือที่ใช้วัดตรวจจับนั้น ซึ่งมีจิตเป็นผู้เห็นเป็นผู้สังเกตอีกที และสิ่งใดก็ตามที่เราคิดว่าอยู่แยกจากกันกระทั่งสิ่งที่ดูว่าแข็งที่สุด ความจริงที่อยู่ลึกลงไปกว่าที่ตาเห็น มันไม่ได้แยกจากกันเลย แต่จะพัวพันกันอีนุงตุงนัง (Dean Radin: Entangled Mind, 2006)
- บล็อกของ ลุงพูน
- อ่าน 6146 ครั้ง
ความเห็น
ลูกอีสาน
15 กรกฎาคม, 2020 - 06:00
Permalink
Re: ความทรงจำนอกมิติ
วัสดีครับลุงพูน สบายดีนะครับ คิดถึงสมาชิกเก่าๆๆ55