การเดินทางของความฝัน The Journey of Dream (1)
คนเราทุกคนก็มีความฝันเป็นของตนเอง ความฝันของแต่ละคนก็มีเอกลักษณ์ มีคุณค่าในตัวของมัน ไม่อาจเทียบได้ว่า เล็ก ใหญ่ ถูก ผิด ดี หรือไม่ดีกว่าของใครๆ เพราะ ความสุข เป้าหมายในการดำเนินชีวิต วิธีคิด มุมมอง และประสบการณ์ในชีวิตที่แต่ละคนประสบมานั้นต่างกัน
ด้วยความที่ชีวิตวัยเด็กเติบโตมาจากต่างจังหวัด คุ้นเคยกับวิถีของเกษตรกรรม แต่ความจำเป็นของทางการศึกษาทำให้พ่อแม่ตัดสินใจย้ายถิ่นฐานเข้าสู่เมืองหลวง เพื่อให้ลูกได้เรียนในที่ที่เชื่อว่าดี เมื่อเรียนจบ ก็ทำงานในเมืองใหญ่ ใช้ชีวิตทำงานอยู่ห้องปรับอากาศ อยู่กับหน้าคอมพิวเตอร์เกินวันละ 8 ชั่วโมง อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สะดวกสบาย อยู่บ้านจัดสรร ใช้ชีวิตแบบคนอื่นๆ เป็นล้านๆ คนในประเทศนี้ แต่ความประทับใจในวัยเด็ก ที่ได้อยู่กับธรรมชาติ วิถีแห่งเกษตรกรรม วิถีของการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย น้ำใจไมตรีของคนในชุมชน ยังฝั่งลึกในใจไม่เคยจางหาย เมื่อนานวันเข้าความฝั่งใจเหล่านั้นได้ก่อตัวเป็นความใฝ่ฝัน เป็นแรงบันดาลใจ ให้อยากก้าวเดินไปบนหนทางของธรรมชาติ ด้วยวิถีแห่งเกษตรกรรม และรอวันที่โอกาสจะมาถึง ให้เราได้เดินไปบนเส้นทางแห่งนั้น
และแล้วโอกาสครั้งแรกก็มาถึง เมื่อพ่อแม่ตัดสินใจซื้อที่ดิน จำนวนหนึ่งที่ไม่ไกลจากกรุงเทพมากนัก เพื่อไปใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ตามประสาคนแก่ ที่หมดภาระไม่ต้องดิ้นรนเพื่อลูกๆ เพราะลูกๆ สามารถพึ่งพาตนเองได้แล้ว
7 ปีที่แล้วเป็นจุดเริ่มต้นของการหวนคืนสู่ชีวิตเกษตรกรรมของพ่อแม่ หลังจากที่ห่างหายไปนานเกือบ 20 ปี ณ ตอนนั้นก็เริ่มลองผิดลองถูก ในการทำเกษตรกรรม เริ่มต้นตั้งแต่ปลูกข้าว มันสำปะหลัง มะลิ ดาวเรือง ข้าวโพดหวาน ฟักทอง แตงกวา มะเขือพวง ใครว่าปลูกอะไรดี ก็ปลูกตามเขาบ้าง ตามที่ตัวเองคิดว่าน่าจะดีบ้าง ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่อยู่โดดเดี่ยวบ้านหลังเดียวกลางไร่ ไม่มีไฟฟ้า น้ำประปา เรียนรู้เรื่องทิศทางลม แดด ฝน
จักรยานปั่นน้ำ แทนระบบมอร์เตอร์
ผ่านไป 2 ปี เริ่มคุ้นเคยและเข้าใจธรรมชาติรอบตัวมากขึ้น ในด้านการเพาะปลูกก็ได้เห็นวงจรของการเกษตร ทั้งจากบ้านเราเองและเพื่อนบ้าน คือ มักนิยมปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ถั่วเขียว มะละกอ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ฯลฯ ปลูกอย่างใดอย่างหนึ่งจนเต็มพื้นที่ หรืออาจแบ่งพื้นที่ปลูกอย่างมากไม่เกิน 3 ชนิด เช่น พื้นที่ 10 ไร่ ปลูกมันสำปะหลัง 3 ไร่ อ้อย 5 ไร่ ข้าวโพด 2 ไร่ เป็นต้น เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิต ราคาพืชผลที่เคยสูงในช่วงที่ผลผลิตดเข้าสู่ตลาดไม่มาก จะลดต่ำลงทันที่เมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว เช่น มันสำปะหลัง กิโลกรัมละ 2.50 บาท จะลดลงเหลือ 1.6 หรือน้อยกว่า เมื่อมีผลลิตเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก เกษตรกรที่ทั้งปีปลูกมันสำปะหลังอยู่อย่างเดียว เมื่อขายผลิตได้ราคาต่ำ กำไรไม่คุ้มกับทุนและเวลาที่ใช้ไปทั้งปี หรือบางคนอาจถึงขั้นขาดทุน วงจรหนี้สิน เป็นสิ่งที่เห็น ได้ยิน ได้ฟังมาตลอด
นอกจากนี้สิ่งที่เห็นเป็นเรื่องธรรมดาก็คือ การใช้สารเคมี ทั้ง ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี สวนข้างๆ กัน มักจะฉีดพ่นยาฆ่าแมลงให้ถั่วฝักยาว หรือพืชในไร่ของเขา เพื่อให้สวย น่ากิน แต่บ้านเขาจะไม่กินพืชที่เขาปลูก บ้านเราเคยไปซื้อเขากิน ปรากฏว่ามีอาการลิ้นชา อาเจียน เพราะแพ้ยาฆ่าแมลง หรือแม้แต่เวลาที่เขาพ่นยาฆ่าแมลงแล้วกลิ่นมันลอยมาตาม ลม จะอยู่นอกบ้านแทบไม่ได้ ต้องปิดประตู หน้าต่างแล้วอยู่แต่ในบ้าน บ้านเราเองเวลาที่ต้องพ่นยาฆ่าแมลง ก็ต้องขังตัวเองอยู่แต่ในบ้านเหมือนกัน นอกจากนี้สารเคมีทางการเกษตร ยังมีราคาแพง เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ก็ยังมีเกษตรกรจำนวนมากยังคงใช้อยู่ และหนึ่งในนั้นก็คือบ้านเราด้วย จริงๆ เราทราบเรื่องเกษตรปลอดสารพิษแต่ ตอนนั้นยังไม่ได้สนใจแบบจริงจัง
แต่เมื่อต้องมาเจอเหตุการณ์ที่ต้องขังตัวเองอยู่ในบ้าน และแม่แพ้ยาฆ่าแมลง ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า “ทำไมถึงต้องใช้สารเคมี” ทั้งๆ ที่ มัน มีพิษต่อผู้ใช้: เราไม่อยากให้พ่อ แม่เราเจ็บป่วยด้วยโรคภัยจากสารเคมี มีพิษต่อดิน: เราไม่อยากให้ดินในสวนเรากลายเป็นดินเปรี้ยว ไม่อุดมสมบูรณ์ เราไม่อยากทำให้แม่ธรณีระคายเคือง ราคาแพง: เป็นต้นทุนที่ทำให้ได้กำไรน้อยลง นอกจากนั้นคือ เราต้องพึ่งพิงผู้อื่นโดยเบ็ดเสร็จ พึ่งพิงร้านขายปุ๋ย ขายยาฆ่าแมลง ซื้อตามราคาที่เขากำหนด การปลูกพืชเชิงเดียว ต้องพึ่งพิงตลาด ขายตามระยะเวลาและในราคาที่ตลาดกำหนด
คำถามต่อมา คือ “มันมีวิธีอื่นอีกไหม” เป็นคำถามที่เปิดตาและใจของเรา ให้แสวงหาความรู้ แสวงหาทางออกอื่น ทางของการทำเกษตรแบบหลากหลาย ไม่มีพิษต่อเกษตร ไม่ทำร้ายดิน ราคาไม่แพงทำให้ต้นทุนลดลง กำไรมากขึ้น ที่สำคัญทำให้เราพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น ยืนด้วยลำแข้งของตนเองได้ ถึงแม้ว่าเรายังไม่เข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างลึกซึ้ง แต่เราคิดว่าส่วนหนึ่งที่สำคัญคือ “การพึ่งตนเองได้” มันอาจไม่ได้หมายถึงพึงตนเองทั้งหมด เพราะมนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม การพึ่งพาคนอื่นเป็นเรื่องที่หลีกหนีไม่พ้น แต่อย่างไรก็ตามคนเรา ควรพึงตนเองให้ได้ก่อน หากเราพึ่งตนเองได้ เราแข็งแรง เราก็มีแรงที่จะช่วยเหลือ แบ่งปันคนอื่นได้ ด้วยวิธีการ เครื่องมือ องค์ความรู้ที่เราค้นพบด้วยตัวของเราเอง นั้นเป็นคำถามที่นำมาสู่การค้นพบว่า วิถีของการปลูกพืชแบบผสมผสานด้วยอินทรีย์ อาจเป็นคำตอบที่เรากำลังแสวงหาก็เป็นได้…..
ในทางปฏิบัติจริง มันไม่ง่ายเลยที่จะนำสิ่งที่ศึกษามาทำจริง เพราะเราไม่สามารถทำได้ด้วยตนเองตลอดเวลา เราต้องพึ่งพ่อแม่ และคนอื่นในการทำเกษตร พึ่งพิงตลาด การจะเปลี่ยนความเชื่อ ความเคยชิน ของคนเป็นเรื่องที่ยากที่สุด แต่ไม่ว่าจะยากแค่ไหน ถ้าสิ่งนั้นจะนำพาความอยู่ดี มีสุข ความสามารถในการพึ่งพาตัวเอง มาสู่ครอบครัว มาสู่เพื่อนบ้านเกษตรกร มาสู่สิ่งแวดล้อม มันก็น่าลองทำไม่ใช่เหรอ แล้วเราละ พร้อมที่จะลงทุน ทั้งกำลังกาย เวลา สติปัญญา และทรัพย์กับมันหรือยัง เป็นคำถามที่เคยเกิดขึ้น เมื่อ 5 ปีที่แล้ว และบอกเลย ณ ตอนนั้น ว่ายังไม่พร้อม แต่จะลองทำในสิ่งที่ตัวเองทำได้ก่อน
สิ่งที่เราอยากทำตอนนั้นคือ การปลูกต้นไม้ เรารู้ว่ามันจะเป็นทรัพย์ที่มีค่าเมื่อเราแก่ตัวลง เพราะต้นไม้โตทุกวัน และมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นทุกวัน แต่มีข้อเสียคือ ใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน 20-30 ปี แล้วเราจะทำอย่างไร ให้คนทั้งบ้านเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ จริงๆ ต้อง ขอบคุณ คุณ tumtum จากงานเขียนผ่านประสบการณ์จริงของคนปลูกต้นไม้ในเรื่อง “นิทานดินแดนมหัศจรรย์” เพราะเราใช้งานเขียนนี้ เป็นเครื่องมือในการหาพวก เริ่มจากการเล่าให้น้องฟัง เอาให้แม่อ่าน แล้วแม่ก็เล่าให้พ่อฟัง แม้ยังไม่เห็นด้วยแต่ก็ไม่มีใครคัดค้าน เราเลยปิดกระดาน ด้วยการพาทุกคนไปดูงานที่ “บ้านผู้ใหญ่วิบูลย์”ที่ฉะเชิงเทรา ว่าการอยู่กับป่าปลูก หรือ “วนเกษตร”เป็นแบบไหน และอาจโดยพื้นฐานที่บ้านเราเป็นคนรักธรรมชาติและต้นไม้อยู่แล้ว ท้ายที่สุดทุกคนก็เห็นด้วย และพร้อมใจกันปลูกป่า อีกเหตุผลนึงอาจเป็นเพราะมองเห็นประโยชน์ในอนาคตอันยาวไกลด้วย เพราะตอนนั้นยังไม่มีใครเห็นประโยชน์ของต้นไม้ในระยะสั้น (หากท่านที่อ่าน blog “สะพาน” แล้วคงทราบว่าคืออะไร) และแล้วต้นไม้นับพันต้น หลากหลายสายพันธ์เกือบ 100 ชนิด จึงได้มีโอกาสหยั่งรากลึกลงดินในพื้นที่ กว่า 2 ไร่ มาจนถึงทุกวันนี้
ในปีถัดมา เราพยายามที่จะให้พ่อแม่เลิกใช้ปุ๋ยเคมีในการบำรุงพืช และยาฆ่าแมลง ด้วยการหาหนังสือเกี่ยวข้องกับการปลูกพืชแบบอินทรีย์ ที่ประสบความสำเร็จมาให้อ่าน (พอดีว่าแม่เป็นคนชอบอ่าน และแม่มีอิทธิพลในการโน้มน้าวพ่อให้ทำตามà ต้องเข้าให้ถูกคน 555)
ทดลองด้วยการปลูกมะลิ แบบไม่ใช้ยาฆ่าแมลง แต่ใช้สารธรรมชาติ แต่เนื่องจากพื้นที่ใกล้เคียงก็ยังใช้ยาฆ่าแมลงอยู่ ซึ่งส่งผลต่อเนื่อง คือ ถ้าเราไม่ใช้ แมลงต่างๆ ก็จะมารุมกินโต๊ะที่ไร่เราที่เดี๋ยว หนอนลงแปลงดอกไม้ และด้วยความที่ใช้สารธรรมชาติไม่ต่อเนื่อง และเราไม่มีเวลาเอาจริงเอาจังกับมัน เพราะตอนนั้นก็ติดภาระกิจการงานและการศึกษา ทำให้ที่ไร่ก็ยังไม่เลิกใช้ยาฆ่าแมลงแต่ก็ลดปริมาณการใช้ลง และใช้ปุ๋ยที่ทำจากธรรมชาติบ้าง สลับกันไปอยู่อย่างนี้ มาจนถึงปีนี้
เมื่อต้นปี 2558 เจ้าของที่ดินแปลงข้างเคียงประกาศขาย และบ้านเราก็ซื้อไว้ เมื่อมีที่ดินเพิ่ม การวางแผนการใช้ที่ดินก็ตามมา ประกอบกับเราเคยเจอวิกฤติน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 บ้านที่บางบัวทองจมอยู่ใต้น้ำเป็นเวลากว่า 2 เดือน พวกเรากลายเป็นผู้ประสบภัย แต่ในระหว่างนั้น เราก็ไปเป็นอาสาสมัคร ช่วยเหลือบ้านอื่นที่ถูกน้ำท่วมเหมือนกัน ในเหตุการณ์นั้นเราค้นพบว่าในภาวะวิกฤติ เงินไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง แม้มีเงิน แต่คุณอาจไม่สามารถซื้อน้ำดื่มได้ เพราะมันขาดตลาด มันไม่สามารถผลิตได้ และผลิตไม่ทัน ในวันที่เราเดินทางไปกับหน่วยอาสา เพื่อเอาข้าวและอาหารปรุงสุก ไปแจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัย ณ วันนั้นกลุ่มของเราได้ข้าวมาแค่ 500 กล่อง แต่คนที่รอข้าวอยู่มีมากกว่านั้น กลุ่มของเราต้องเดินทางเข้าไปยังซอยที่ลึกที่สุดเพื่อช่วยเหลือคนที่ลำบากที่สุดก่อน เพราะคนที่อยู่ต้นทางมีโอกาสจะได้รับความช่วยเหลือมากกว่า
ในสภาวะนั้น กลุ่มพวกเราต้องฝืนใจกล่าวปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือกับคนที่อยู่ต้นทาง แม้จะเห็นใจสงสาร แต่ก็ต้องตัดใจเพราะของมีจำกัด ในใจเราตอนนั้นคิดแค่ว่า ถ้าฉันมีนาข้าวเยอะๆ ก็คงจะดี จะๆ ได้เอาข้าวมาแบ่งให้คนเหล่านี้ พอกลับมาถึงที่พักก็โทรหาแม่ ว่าข้าวที่นาเราสุกหรือยัง เกี่ยวได้หรือยัง ซึ่งคำตอบก็คือยัง เพราะตอนนั้นเป็นเดือนตุลาคม ปกติข้าวนาปีจะเก็บเกี่ยวประมาณพฤศจิกายน แต่จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เราเข้าใจแล้วว่า “เงินทอง เป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง” (กล่าวโดย อาจารย์ยักษ์) และเหตุการณ์ครั้งนั้นก็เป็นการตอกหมุดในใจ ว่าการเกษตรจะเป็นทางออกและที่พึ่งของชีวิตเราและเป็นเครื่องมือที่เราจะช่วยคนอื่นได้ หากเรามีอาหารการกินที่สะอาด ปลอดภัย ชีวิตของเราก็จะดำรงอยู่ต่อไปได้ และเมื่อซื้อที่ดินเพิ่มได้อีก 5 ไร่ บวกกับการให้ความสำคัญกับการเกษตรมาเป็นลำดับต้นของชีวิต ทำให้เวลาที่บอกว่าไม่มีหรือยุ่งเหยิงก็สามารถจัดสรรได้ คำถามที่เราเคยตอบว่ายังไม่พร้อมเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในปีนี้คำตอบได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เราพร้อมแล้วที่จะลงทุนกับมัน ทั้งกำลังกาย เวลา สติปัญญา และทรัพย์สิน….. แล้วพบกันใหม่ตอนต่อไปค่ะ
ข้อคิด/Quote : แม้จะได้ทำในสิ่งที่รัก แต่ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีอุปสรรค หรือขวากหนามกางกั้นเราอยู่ ความยากลำบากเหล่านั้นเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเราได้ลงมือทำสิ่งเหล่านั้นจริงๆ เราจะฝ่าฝันมันไปได้หรือไม่ ด้วยวิธีการใด เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ท้ายที่สุดเราจะสามารถเดินไปถึงฝันหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเรา ระยะเวลามิอาจคอยใคร และเวลาก็ไม่อาจย้อนกลับ เราคือผู้ที่จะกำหนดชีวิต ความฝันของเราว่าจะให้มันเดินทางอย่างไร ใช้เวลานานแค่ไหน
www.facebook.com\dreamforestfarm
#ไร่สวนฝัน
- บล็อกของ Deejang
- อ่าน 15365 ครั้ง
ความเห็น
ริมสวนยาง
26 ตุลาคม, 2015 - 13:17
Permalink
Re: การเดินทางของความฝัน The Journey of Dream (1)
เป็นกำลังใจ ให้ นะคะ น้อง บ้านน่าอยู่จังค่ะ พี่บัว ชอบดอกดาวเรืองค่ะ สรรพคุณบอกว่า ไล่แมลง ได้ด้วยนะคะ..แต่น้องปลูกเป็นแปลง ขนาดนี้ ส่งขายหรือเปล่าเอ่ย...ได้ที่ดินเพิ่ม แล้ว ทีนี้ละ จัดเต็มเลย จ่ะ ...ข้าวออกรวง งดงาม นะ..อ้อ แล้วอย่าลืม แจ้งข่าว น้องมะลิ ให้ดูบ้าง นะคะ
Deejang
27 ตุลาคม, 2015 - 23:38
Permalink
Re: การเดินทางของความฝัน The Journey of Dream (1)
ขอบคุณพี่ริมสวนยางนะคะ ที่อ่านจนจบ และให้กำลังใจนะคะ ตอนเขียน ประมาณ 3 หน้า A4 เป็นบล็อกที่ยาวมาก ตอนแรกคิดว่าจะไม่มีใครอ่านจบซะอีก
ดาวเรื่อง ปลูกขายค่ะ ปลูกเมื่อตอนทำสวนใหม่ๆ แต่ตอนนี้ไม่ได้ปลูกแล้ว เพราะเรื่อง ราคา การดูแลรักษา และการเก็บด้วย ดาวเรื่องอาจช่วยไล่แมลงได้บ้าง แต่หนอนชอบดาวเรื่องคะ ตอนนี้เลิกขายแล้ว ปลูกไว้นิดหน่อยเพื่อไหว้พระ แต่ว่าปีใหม่นี้ แม่กำลังปลูกจำนวนนึงเพื่อเอาไปทำบุญ
ด้านล่างคือน้องมะลิ ตามที่ขอมา มะลิต้องเก็บกลางแดด เวลาที่ออกดอกเยอะ ต้นหนึ่งเก็บนานมาก ได้แต่ภาวนา เมื่อไหร่จะถึง 1 กิโลซะที
ตอนนี้ลดการปลูกน้องมะลิลง พื้นที่ตรงนี้ในปัจจุบันมีผลไม้ ต้นพันธุ์พริกไทย และพริกมาแทรกค่ะ
ริมสวนยาง
16 พฤศจิกายน, 2015 - 16:56
Permalink
Re: การเดินทางของความฝัน The Journey of Dream (1)
ขอบคุณมากๆเลยค่ะ ถูกใจ จริง
TuayFoo
26 ตุลาคม, 2015 - 20:06
Permalink
Re: การเดินทางของความฝัน The Journey of Dream (1)
ต้องติดตามตอนต่อไปแล้วครับ
ไร่สุโขทัยนี้ดี ไร่นี้มีแต่ความสุข
ลูกอีสาน
27 ตุลาคม, 2015 - 00:42
Permalink
Re: การเดินทางของความฝัน The Journey of Dream (1)
เป้นกำลังใจครับสู้ๆๆๆ
เสิน
27 ตุลาคม, 2015 - 15:23
Permalink
Re: การเดินทางของความฝัน The Journey of Dream (1)
การปลูกแบบผสมผสานน่าจะเหมาะ ปลูกหลายๆอย่างปลูกเพื่อกินโดยไม่มุ่งเน้นกับรายได้ เคมีก็ไม่จำเป็นต้องใช้เลย
..โอกาสไม่ได้มีทุกวัน..
Deejang
27 ตุลาคม, 2015 - 23:42
Permalink
Re: การเดินทางของความฝัน The Journey of Dream (1)
การปลูกแบบผสมผสาน เป็นคำตอบที่ถูกต้องค่ะ ที่บ้านเน้นกิน ทำบุญ แจก ฝาก และขายด้วยค่ะ เรื่องเคมี ตอนนี้เหลือไม่ถึง 5% พยายาจะไปให้ถึง 100% ในเร็วนี้ค่ะ
นานุวัฒน์
27 ตุลาคม, 2015 - 18:10
Permalink
Re: การเดินทางของความฝัน The Journey of Dream (1)
ขอเดินร่วมทาง(อุดมการณ์เดียวกัน) ไปด้วยคนนะครับ
“นานุวัฒน์ ทำเกษตรให้สนุกและมีความสุข”
Deejang
27 ตุลาคม, 2015 - 23:46
Permalink
Re: การเดินทางของความฝัน The Journey of Dream (1)
ขอบคุณ คุณ TuayFoo และลูกอีสาน สำหรับกำลังใจ และ คุณนานุวัฒน์ ตอนนี้เราเป็นคนวงการเดีบวกันค่ะ "วงการเกษตร" สามารถแลกเปลี่ยน ความคิดเห็น หรือเสนอแนะได้เลยค่ะ
ป้าต่าย
30 ตุลาคม, 2015 - 09:44
Permalink
Re: การเดินทางของความฝัน The Journey of Dream (1)
อันนี้เรียกว่าประสบณ์ความสำเร็จแล้วนะ สำหรับความคิดป้า จงทำต่อไปเพื่อความฝันของเรา
คิดให้แตกต่าง...แต่อย่าแตกแยก
หน้า