วิศวกรรม? หรือ วิศวกรรมเกษตร? ตอนที่ 4 ไม่มีค่า เพราะ มองไม่เห็นค่า
หลังจากที่ผมเริ่มถอดคราบความเป็นวิศวกรโรงงานทิ้ง แล้วหันมาสวมใส่ชุดชาวสวน และเปลี่ยนจากจับปากกาถือโน๊ตบุค หันมาจับจอบถือพร้าได้สักพัก (พักเล็กๆ) ถ้าตอนนั้นผมจับเวลาเอาไว้ ผมว่าไม่น่าจะเกินสองชั่วโมงด้วยซ้ำ คำถามต่างๆ ที่ผมคิดไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่าจะต้องมีคนถาม ก็เริ่มแว่วเข้ามาในหู “ทำอะไรเหรอน้องปู (ปู คือ ชื่อเล่นของผม) จะไม่กลับกรุงเทพฯ แล้วเหรอ” ทิศทางของเสียงดังแว่วมาจากบ้านข้างๆ ผมตอบกลับไปแบบไม่คิดอะไรมาก ว่า “ไม่กลับแล้วครับ ผมจะกลับมาอยู่บ้าน จะมาทำสวนครับ!” แต่ทว่า หลังจากที่คำถามแรกถูกถามขึ้น คำถามต่างๆ อีกมากมายก็ทยอยตามมา ผมรู้สึกคล้ายกับว่า ผมกำลังโดนยิงด้วยชุดคำถาม ชุดใหญ่ ก็ว่าได้
เท่าที่ผมจับใจความได้ แต่ละคำถามเป็นคำถามที่เขาเหล่านั้นไม่ต้องการคำตอบจากผมเลย! อาทิเช่น “จะไหวเหรอ? คนไม่เคยลำบาก ทำไม่ได้หรอก” “เดี๋ยวพอทำไม่ไหวคงหนีกลับกรุงเทพฯ” ผมกลายเป็น Talk Of The Town ของเช้าวันนั้นเลยก็ว่าได้ ผมสังเกตดูคนเหล่านั้นขณะที่พวกเขากำลังคุยเรื่องของผมกันอย่างสนุกปาก แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะผมเตรียมใจไว้แล้ว อาจจะมีบ้างที่ในใจลึกๆ มันแอบน้อยใจอยู่บ้าง เพราะไม่เข้าใจ ว่าทำไมการที่ผมกลับมาทำเกษตร มันแย่มากเลยเหรอ
เมื่อนึกย้อนกลับไปเมื่อก่อน เมื่อครั้งที่ผมยังทำงานบริษัท ทุกปีที่ผมกลับบ้านช่วงเทศการ ผมสังเกตดูญาติพี่น้อง เขาจะรอการกลับมาของเรา เพื่อที่จะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน แต่ครั้งเมื่อผมตัดสินใจกลับมาใช้ชีวิตอยู่บ้านจริงๆ กลับกลายเป็นว่า ไม่มีใครต้องการให้ผมกลับมาทำเกษตรทำไร่ทำสวนเลยแม้แต่คนเดียว รวมถึงพ่อและแม่ก็เช่นกัน พ่อบอกกับผมว่า “เสียดายประสบการณ์และความรู้ที่มี” แม่บอกว่า “แม่ไม่อยากเห็นลูกลำบาก แม่รับไม่ได้ถ้าผมต้องมาจับจอบจับเสียม” อ้าว! ทำไมเรื่องมันเป็นแบบนี้ไปได้ ผมพยายามทำความเข้าใจกับเหตุผล ที่พ่อและแม่พยายามกล่อมผม แต่ผมก็ยังยืนยันที่จะเดินหน้าลุยต่อไป เพราะผมรู้ว่าที่ท่านพูดกับผมแบบนั้นเพราะท่านหวังดี ไม่ต้องการให้ลูกต้องมาลำบาก หลายๆ ครั้งที่ท่านเอ่ยเรื่องนี้กับผม ผมก็ตอบกับท่านทั้งสองว่า “นี่แหละคืองานของผม และ ตอนนี้ผมก็กำลังทำงาน ผมขอเวลาสองปีเพื่อลองทำดูก่อน!” แต่ก็มีหลายครั้งที่มีแผ่วบ้าง เวลาที่ได้ยินคนรอบข้างพยายามกล่อมให้ผมกลับไปทำงานที่กรุงเทพฯ โดยอ้างเหตุผลต่างๆ นาๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งก็ไม่มีใครมาห้ามหรือกล่อมให้ผมกลับกรุงเทพฯ อีกเลย จะมีก็แต่แม่ผม ที่มักจะพูดแซวผมเสมอๆ ว่า “มันบ้าไปแล้ว! มันจะทำอะไรก็ให้มันทำ!” ตั้งแต่นั้นมาผมก็เริ่มทำทีละเล็กทีละน้อย ตามแบบของ “วิศวเกษตรมือใหม่”
ผมเริ่มทำตามแผนที่วางไว้ โดยผมพยายามดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ให้ได้มากที่สุด (แต่ก็มีปรับเปลี่ยนแผนบ้างในบางรายละเอียด หลังจากที่ได้รับคำแนะนำจากคนรอบข้าง) ผมเริ่มจากการรวบรวมพันธุ์ไม้ตลอดจนเมล็ดพันธุ์ต่างๆ โดยยึดหลักที่ว่า พยายามปลูกพรรณไม้ที่มีอยู่ในท้องถิ่นก่อน ไม่เน้นการซื้อต้นพันธุ์ เพราะไม่มีเงินทุนและคิดว่ายังไม่จำเป็น สำหรับการเริ่มต้นของคนที่ไม่เคยทำเกษตรมาก่อนนั้น ผมมองว่า การเริ่มจากสิ่งเล็กๆ และสิ่งที่อยู่รอบตัว คือหัวใจสำคัญ “อย่าทำการใหญ่ถ้าเรายังไม่เข้าใจในเนื้องาน” ผมเริ่มต้นจากการสำรวจสิ่งต่างๆ รอบตัว เริ่มจากจุดเล็กๆ คือ บริเวณรอบๆ บ้าน แล้วขยายวงการสังเกตบ้านข้างๆ เขาปลูกอะไรบ้าง จากนั้นก็เริ่มกระบวนการ “ขอ” ขอทุกอย่างที่คิดว่าเขาไม่หวง เช่น ขอกิ่งผักหวาน ขอฝักเพกาแก่ๆ ขอเถาพริกไทย ขอเถาพลูกินหมาก ขอขี้วัว ขอดินกองกรน ขอถุงดำ และอื่นๆ อีกมากมาย ขอจากคนที่เรารู้จักบ้าง ญาติๆ ขอจากบ้านเพื่อนๆ มาฝากเราบ้าง ขอผ่านทางอินเตอร์เน็ทบ้าง จนสิ่งที่ขอมาเริ่มเยอะขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างนั้นก็ทยอยเพาะเมล็ดที่ละเมล็ด ดูแลจนเติบโตเป็นต้นกล้า จากต้นกล้าโตเป็นต้นพันธุ์ (พันธุ์ดีบ้างไม่ดีบ้าง) จากต้นพันธุ์ก็เริ่มทยอยปลูกลงผืนดิน (จัดกลุ่มพืชที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ แล้วจัดสรรพื้นที่) เมื่อครั้งเริ่มต้นใหม่ๆ ขณะที่ผมเริ่มเตรียมต้นพันธุ์ ความสงสัยและความเป็นกังวลของคนรอบข้างก็ยิ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ และดูจะหนักใจกับงานที่ผมทำมากขึ้นไปอีก! ด้วยเหตุที่ผมเลือกที่จะเพาะและปลูกในสิ่งที่คนอื่นเขาไม่ปลูกกัน ตัวอย่างเช่น
ขณะที่คนอื่น ฟันกอส้มป่อยทิ้งเพราะเห็นว่ามันเกะกะ ผมกลับเลือกที่จะปลูกส้มป่อยรอบบ้านหลายๆ ต้น
ขณะที่คนอื่น โค่นต้นเพกาที่อยู่ตามริมสวนทิ้งเพราะมันเกะกะ ผมกลับทยอยปลูกเพกาในสวนยาง
ขณะที่คนอื่น มองว่าผักกูดริมคลองเป็นของไม่มีราคา แต่ผมกลับขุดกอผักกูดมาปลูกไว้ใต้โคนเงาะ
ขณะที่คนอื่น ไม่ปลูกพลูไว้ข้างบ้าน ด้วยเหตุว่า คนไทยเลิกกินหมากกันแล้ว แต่ผมก็ยังปลูกพลูไว้หลายค้าง
ขณะที่คนคนอื่น ตัดแต่งกิ่งผักหวานแล้วโยนกิ่งทิ้ง ผมกลับขอเอามาเพาะไว้เพื่อปลูกในพื้นที่ว่างๆ
ขณะที่คนอื่น ชำกิ่งมะกูดเพื่อขยายพันธุ์ แต่ผมกลับมานั่งเสียเวลาปลูกด้วยวิธีการเพาะเมล็ด
ขณะที่คนอื่น รอให้ถึงฤดูฝน จึงจะเริ่มปลูกต้นไม้ ผมกลับปลูกสิ่งที่ต้องการโดยไม่ใส่ใจกับฤดูกาล
ขณะที่คนอื่น ตัดต้นกล้วยป่าที่อยู่ระหว่างร่องยางทิ้งเพราะคิดว่ามันแย่งปุ๋ย แต่ผมกลับมองว่ามันมีประโยชน์ต่อยาง
ขณะที่คนอื่น ฟันกอไผ่ตามริมแดนทิ้งเพราะกอมันเกะกะเสียพื้นที่ ผมกลับหากิ่งพันธุ์ไผ่มาปลูกตามพื้นที่ว่าง
ขณะที่คนอื่น ไม่นิยมปลูกกล้วยตานีนอกเสียจากแม่ค้าทำขนม แต่ผมก็ยังแยกหน่อกล้วยตานีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ขณะที่คนอื่น โค่นต้นหมากทิ้งเพื่อเปลี่ยนเป็นสวนยาง ผมกลับหาเก็บลูกหมากตามโคนต้นมาปลูกตามริมสวน
ขณะที่คนอื่น เลือกที่จะหาซื้อต้นดอกไม้สวยๆ จากร้านขายต้นไม้ ผมกลับเลือกที่จะขยายพันธุ์ดอกไม้รอบๆ บ้านที่มีอยู่เดิมด้วยตัวเอง
ตัวอย่างกิจกรรมที่ผมยกมาข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของอีกหลายๆ กิจกรรมที่ลงมือทำได้สักระยะหนึ่งแล้ว และทุกกิจกรรม เมื่อเราบอกเล่าสิ่งที่เราจะทำให้คนรอบข้างฟัง ก็จะมีคำถามหนึ่งเกิดขึ้นเสมอ นั่นก็คือ “จะได้ผลเหรอ?” ผมก็จะตอบกลับอย่างมั่นใจว่า “มันต้องได้ผล” แต่ผมก็ไม่ได้คาดหวังว่าทุกกิจกรรมจะต้องสำเร็จ 100% ขอแค่ 50% ผมก็ถือว่า ใช้ได้แล้ว จากกิจกรรมที่ยกตัวอย่างข้างต้น ผมขอขยายความต่อเพื่อให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้นหนึ่งหัวข้อ คือ “ขณะที่คนอื่น ฟันกอส้มป่อยทิ้งเพราะเห็นว่ามันเกะกะ ผมกลับเลือกที่จะปลูกส้มป่อยรอบบ้านหลายๆ ต้น”
ก่อนเข้าเรื่องผมขออธิบายลักษณะของ ต้นส้มป่อยสักเล็กน้อย ลักษณะทั่วไป ส้มป่อยเป็นไม้เลื้อย มีเถาเป็นเนื้อไม้และมีหนามที่เปลือกของลำต้น ลำต้นเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่นได้ ลักษณะคล้ายกับต้นชะอม ประโยชน์ทางอาหาร ยอดอ่อนและใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผัก และ เครื่องปรุงรสช่วยให้อาหารมีรสเปรี้ยว และช่วยดับกลิ่นคาวปลาได้ ยอดส้มป่อยมักนำมาแกงกับปลา แกงส้ม หรือจอ (อาหารเหนือ) ก็ได้ เวลาแกง อาจจะใส่ยอดส้มป่อยอย่างเดียว หรือแกงรวมกับยอดมะขามอ่อนก็ได้
สาเหตุที่ผมเลือกปลูกต้นส้มป่อยรอบบ้านหลายๆ ต้น นั้นก็เพราะว่า ส้มป่อยเป็นผักพื้นบ้านที่มีประโยชน์ ทั้งในด้านของสรรพคุณทางด้านสมุนไพร และด้านการตลาด โดยเฉพาะด้านการตลาดนั้นผมมองว่า ยอดส้มป่อยเป็นผักพื้นบ้านที่น่าจะได้รับความนิยมอย่างสูง ในกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นแรงงานชาวพม่าที่เข้ามารับจ้างกรีดยาง ซึ่งมีอยู่เกือบทุกสวน แรงงานพม่าหนึ่งครอบครัวต่อสวนยางหนึ่งสวน ส้มป่อยเป็นพืชตัวแรกที่ผมปลูกอย่างจริงๆ จังๆ ด้วยเหตุที่ก่อนหน้านี้ผมได้มีโอกาสไปขายผักที่ตลาดนัดข้างบ้านหลายครั้ง และมีอยู่ครั้งหนึ่ง แม่ได้ตัดยอดส้มป่อยให้ผมนำไปขาย (ตอนนั้นที่บ้านมีต้นส้มป่อย 2 ต้น) แม่ตัดยอดส้มป่อยและมัดเป็นกำเล็กๆ ประมาณ 5 กำ และบอกกับน้องเอ๋ (น้องเอ๋ คือ แฟนผมเองครับ!) ว่า ให้ขายกำละ 10 บาท และวันนั้นผมก็เก็บผักอื่นที่ปลูกร่วมกับยาย ให้น้องเอ๋กับน้า นำไปขายที่ตลาดนัด ผักทั้งหมดขายหมดภายในเวลาไม่ถึงสองชั่วโมง น้องเอ๋บอกว่า “ยอดส้มป่อยขายดีมาก พอวางปุ๊บ! พม่าก็มาซื้อหมดก่อนเพื่อนเลย!” ตั้งแต่วันนั้นมา ทุกครั้งที่นำผักไปขายตลาดนัด ผมก็เริ่มสังเกตว่าคนนิยมกินผักอะไร และแม่ค้าคนอื่นเขาขายผักอะไรกันบ้าง และสิ่งที่ผมเจอตลอด ก็คือ ยอดส้มป่อยขายดีมาก กลุ่มลูกค้า คือ แรงงานชาวพม่า (แถวบ้านผมมีเยอะมาก!) และอีกอย่างที่สังเกตเห็น คือ มีแผงผักเพียงไม่กี่แผงเท่านั้น ที่มียอดส้มป่อยวางขายและมีเพียงห้าถึงสิบกำเท่านั้น จึงทำให้ผมยิ่งมั่นใจมากขึ้นอีกว่า “ตัวนี้แหละปลูกเลย! มีตลาดแน่นอน”
ต่อจากนนั้นก็เริ่มคิดต่อว่า แล้วจะปลูกเท่าไหร่ดีละ ถึงจะพอและไม่มากจนเกินไป ผมเลยลองถามแม่ค้าที่มารับซื้อผักจากยายผม แกมีชื่อว่า ป้าสง “ป้าสงครับ ถ้าผมมียอดส้มป่อยส่งให้ป้าสงขาย วันละ 30 กำ ป้าสงจะขายหมดหรือเปล่าครับ?” ป้าสงตอบผมว่า “เอามาเลยมีเท่าไหร่ก็ขายหมด! วันละ 30 กำ ป้าขายหมดอยู่แล้ว!’ ถึงตรงนี้ ของที่คนทั่วไปรวมทั้งตัวผม (ตัวผม Version ก่อน) มองว่ามันเป็นของไม่มีค่า อย่างส้มป่อย ก็กลับกลายเป็นของมีค่าขึ้นมาทันที มีค่าด้วยแถมยังมีราคาสูงอีกต่างหาก
ลองนึกเล่นๆ ดูนะครับ ถ้าวันหนึ่งผมสามารถส่งยอดส้มป่อยให้กับป้าสง จำนวน 30 กำต่อวัน ซึ่งราคาส่งจะอยู่ที่ 8 บาทต่อกำ คิดเป็นเงินเท่ากับ 240 บาทต่อวัน ในหนึ่งสัปดาห์ป้าสงขายของตลาดนัดหกวัน (แกจะหยุดทุกวันพฤหัสบดี) ก็เท่ากับว่าผมจะมีรายได้ 1,440 บาทต่อสัปดาห์ หรือประมาณ 6,240 บาทต่อเดือน ทีนี้ก็เหลือแค่ลงมือปลูกแล้วหาวิธีทำให้มันออกยอดเยอะๆ ผมมานั่งคำนวณ โดยใช้ยอดขายประมาณการที่ 30 กำต่อวัน และประมาณการจำนวนกำต่อต้นจากส้มป่อยสองต้นที่ปลูกอยู่ก่อนแล้ว ทำให้ได้จำนวนต้นคร่าวๆ คือ ผมต้องปลูกส้มป่อยประมาณ 110 ต้น และถึงตอนนี้ผมลงมือปลูกไปแล้วประมาณ 60 ต้น หลายต้นเริ่มให้ผลผลิตแล้ว แต่ก็ยังไม่พอกับความต้องการของตลาด ผมคาดว่าหน้าฝนที่จะมาถึงนี้ ส้มป่อยทุกต้นน่าจะเก็บยอดได้ทั้งหมดและคงเป็นผักพื้นบ้านอีกตัวที่ช่วยเสริมรายได้ให้กับผมได้เป็นอย่างดี
จุดเด่นอีกข้อที่ผมมองว่าส้มป่อยเป็นพืชที่น่าสนใจ คือ ส้มป่อยเป็นพืชที่ไม่ต้องการการเอาใจใส่มากมาย สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินทุกประเภท ทนแล้งได้ดี และไม่ค่อยจะมีแมลงศัตรูพืชมารบกวน
นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่าง ที่หลายคนเคยมองว่า “ไม่มีค่าไม่น่าสนใจ” แต่ตอนนี้ผมกลับมองว่า “มันมีค่า เพียงแต่ก่อนหน้านี้เรายังมองไม่เห็นค่าของมัน” เรามองไม่เห็นค่า ก็เพราะเรามองไม่กว้างพอ เราแค่รู้จักว่ามันคือส้มป่อย แค่รู้ว่ามันสามารถนำมาทำเป็นอาหารได้ เรารู้ว่ามันมีสรรพคุณทางด้านสมุนไพร แต่หากเราใส่ใจศึกษาและทำความรู้จักกับพืชตัวนั้นๆ อย่างจริงจัง และหมั่นเป็นคนช่างสังเกต เราก็จะพบโอกาสที่จะเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรตัวนั้นๆ ให้มีทั้ง “คุณค่าและมูลค่า” ได้
หากเราปลูกทุกอย่างที่อยากปลูก สุดท้ายเราจะไม่มีพื้นที่ให้ใช้ประโยชน์ หรือ หากแค่เพียงรู้ว่าข้างบ้านเราปลูกอะไรไปแล้วบ้าง นั้นยังไม่พอ แต่จงถามตัวเองว่า “เราสามารถทำอะไรกับของที่เราปลูก หรือของที่เรากำลังจะปลูกได้บ้าง และ มีอะไรที่สามารถปลูกแบบให้มันเกื้อกูลกันได้บ้าง” เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้คุ้มค่า และ เป็นการมองให้เห็นมูลค่าและคุณค่าของของสิ่งนั้น โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคุณค่าทางด้านราคาหรือตัวเงินเพียงอย่างเดียว อาจจะมองในด้านของประโยชน์การใช้สอย หรือ อื่นๆ ก็ได้ แล้วมันจะทำให้เรารู้ว่า สิ่งที่เรามองว่า “ไม่มีค่า จริงๆ แล้ว มันไม่มีค่าจริงๆ หรือว่า เรายังมองไม่เห็นคุณค่าและมูลค่าของมัน”
สิ่งสำคัญที่จะมองข้ามไม่ได้เลยสำหรับเกษตรกรมือใหม่ ก็คือ อย่าทำการเกษตรแบบ “ทำตามกระแสนิยม” เพราะสุดท้ายแล้วเมื่อถึงจุดที่มันอิ่มตัว มันก็จะตกลงแบบต่ำสุดๆ เช่นกัน ยกตัวอย่าง เช่น การปลูกผักหวานบ้านของเกษตรเมื่อหลายปีก่อน แรกๆ ก็มีไม่กี่รายผลผลิตมีน้อย ส่งผลให้ราคาผักหวานบ้านมีราคาสูง แต่เมื่อมีคนเริ่มเห็นว่า ผักหวานบ้านราคาดี ก็พากันปลูกตามๆ กัน เมื่อถึงจุดที่ปริมาณการผลิตรวมของผักหวานบ้านมีมากกว่าความต้องการของตลาด ราคาผักหวานบ้านก็ตกต่ำ สุดท้ายก็เหลือเกษตรกรที่ปลูกผักหวานบ้านแบบจริงๆ จังๆ เพียงไม่กี่รายที่ยังยืนอยู่ได้ แต่หากท่านต้องการเป็นหนึ่งเกษตรกรที่สามารถยืนอยู่ได้ ในสภาพที่ราคาสินค้าเกษตรผันผวน แถมสภาพดินฟ้าอากาศยังเอาแน่เอานอนไม่ได้ ก็ควรที่จะมุ่งเน้นการปลูกพืชในแบบที่สามารถพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ท่านก็สามารถที่จะมีความสุขและสนุกกับงานที่ทำ เช่นเดียวกับชีวิตลูกวิศวเกษตรของผมในตอนนี้ครับ!
ความเดินตอนที่ 3 http://www.bansuanporpeang.com/node/7306
- บล็อกของ R-Boo
- อ่าน 12196 ครั้ง
ความเห็น
R-Boo
16 มกราคม, 2011 - 15:48
Permalink
วิศวกรรม หรือ วิศวกรรมเกษตร ตอนที่ 4 ไม่มีค่า เพราะมองไม่เห็นค่า
หลังจากขัดเกลากันอยู่นาน วันนี้ก็ได้เวลาลงบล๊อคแล้วครับ
จัดไปแบบ ยาวๆๆๆๆๆๆ ยาว!
:bye:
R-Boo
มหาสมุทรยิ่งใหญ่ได้ด้วยอยู่ต่ำกว่าแม่น้ำสายเล็กๆ!
ประสิทธิชัย
16 มกราคม, 2011 - 16:25
Permalink
ดีจังครับ
ยาวแต่ก็มีประโยชน์ครับ ดีมากๆ
......................................
เพิ่งจะเริ่มต้น...ขอกำลังใจด้วยนะครับ
R-Boo
16 มกราคม, 2011 - 19:12
Permalink
วิศวกรรม หรือ วิศวกรรมเกษตร ตอนที่ 4 ไม่มีค่า เพราะมองไม่เห็นค่า
ขอบคุณมากครับพี่ประสิทธิชัย
R-Boo
มหาสมุทรยิ่งใหญ่ได้ด้วยอยู่ต่ำกว่าแม่น้ำสายเล็กๆ!
น้อย สวนบุรีรมย์
16 มกราคม, 2011 - 19:44
Permalink
เรื่องยาวเลย เขาว่ากันว่าเงิน
เรื่องยาวเลย
เขาว่ากันว่าเงินเดือนก็เหมือนโซ่ที่ล่ามขาช้างไว้ เพียงช้างกล้าออกแรงกระตุกเท่านั้น ผมเองยังไม่กล้าตัดเลย
สวนเกษตรบุรีรมย์การเกษตรแบบเสาร์เว้นเสาร์ เน้นที่เราปลูกเองกินเอง
บริการจัดทำและดูแลเว็บไซต์ ถูก ดี มีประสิทธิภาพ
R-Boo
16 มกราคม, 2011 - 20:13
Permalink
วิศวกรรม หรือ วิศวกรรมเกษตร ตอนที่ 4 ไม่มีค่า เพราะมองไม่เห็นค่า
ผมกระตุกถึงสองครั้งครับ กว่าโซ่จะขาด เส้นมันโต เลยไม่ยอมขาด
R-Boo
:sweating:
มหาสมุทรยิ่งใหญ่ได้ด้วยอยู่ต่ำกว่าแม่น้ำสายเล็กๆ!
สาวน้อย
16 มกราคม, 2011 - 20:08
Permalink
น้องปู
ขอให้เดินไปข้างหน้าต่อไปค่ะ...ธรรมชาติของการเดืนทางย่อมมีอุปสรรค เมื่อเราตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางแล้วก็ตาม อุปสรรคก็ย่อมมีอยู่ ตอนนี้เราต้องเอาชนะอุปสรรคให้ได้...ตอนนี้พี่มองว่าน้องเดินถูกทางแล้วค่ะ...พี่เคยคิดแบบน้องแต่พี่แพ่ต่อเสียงรอบข้างหลายๆครั้งงานพี่จึงล้มเหลว...บล๊อกนี้สร้างพลังให้ฮึดสู้ขึ้นมาได้อีก....ส้มป่อย นอกจากขายยอดแล้วน้องลองติดต่อร้านขายยาสมุนไพรนะคะเพราะใบส้มป่อยสามารถนำมาทำลูกประคบสมุนไพรได้ แล้วก็ฝักส้มป่อยเองก็เป็นยาที่เข้ากับยามตำรับหลายขนานหากเราผลิตออกมาคุณภาพดี สามารถเพิ่มตลาดได้อีกทางหนึ่งนะคะ
ชีวืตที่เพียงพอ..
R-Boo
16 มกราคม, 2011 - 20:17
Permalink
วิศวกรรม หรือ วิศวกรรมเกษตร ตอนที่ 4 ไม่มีค่า เพราะมองไม่เห็นค่า
ขอบคุณมากๆ ครับพี่สาวน้อย
ส้มป่อยเป็นมากกว่าที่เราคิดจริงๆ ครับ
R-Boo
:embarrassed:
มหาสมุทรยิ่งใหญ่ได้ด้วยอยู่ต่ำกว่าแม่น้ำสายเล็กๆ!
james
16 มกราคม, 2011 - 20:18
Permalink
อ่านอย่างตั้งใจ
ก่อนอื่นต้องขอบคุณ ที่นำประสบการณ์การทำเกษตรมาบอกกล่าวกันครับ เป็นตัวอย่างที่ดีของคนที่คิดจะกลับไปทำงานเกษตร (ผมจัดอยู่ในชนกลุ่มนั้นครับ)
ยอมรับตามตรง ว่าการตัดสินใจออกจากงานในระบบ กลับสู่บ้านเกิดเพื่อทำงานทางการเกษตร มันต้องหาเหตุผลที่ดีพอสำหรับการตัดสินใจครับ ตอนนี้ผมก็กำลังหาความรู้เกี่ยวกับการดำรงชีวิตด้วยการเพาะปลูก คาดว่าอีกไม่นานคงได้กลับไปทำตามที่ได้ศึกษามา
ผมจะติดตามอ่านตอนต่อไปน่ะครับ อย่าเพิ่งท้อ เพราะเรื่องราวของพี่เป็นทั้งความรู้และแรงกระตุ้นสำหรับผม
ยินดีที่ได้รู้จักครับ
R-Boo
16 มกราคม, 2011 - 21:11
Permalink
วิศวกรรม หรือ วิศวกรรมเกษตร ตอนที่ 4 ไม่มีค่า เพราะมองไม่เห็นค่า
ยินดีที่ได้รู้จักน้องเจม และสมาชิกบ้านสวนพอเพียงทุกคนเช่นกันครับ
R-Boo
:embarrassed:
มหาสมุทรยิ่งใหญ่ได้ด้วยอยู่ต่ำกว่าแม่น้ำสายเล็กๆ!
ann
16 มกราคม, 2011 - 20:30
Permalink
เรื่องมานนน... ยาว
แต่ก็อ่านจนจบค้าาา.....
สู้ ๆ :super: :super: :super:
....ความสุขอย่างแท้จริง ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง....
หน้า