พืชผักในบ้านสวนพอเพียง : หมักหมก, หมากหมก

หมวดหมู่ของบล็อก: 

     ต้นไม้ชนิดนี้จะชื่อ หมักหมก หรือหมากหมก เท่าที่ค้นดูชื่อที่ถูกต้องเห็นจะเป็น "หมากหมก"  แต่ผมเรียก "หมักหมก" มาตั้งแต่เด็ก สิ่งที่ประทับใจหมักหมกมาตั้งแต่เด็กคือ คือความอร่อยของแกงเลียงหมักหมก ซึ่งเอาผักเหมียงมาแลกก็ไม่ยอม จริงๆ ครับ เพราะถ้าเอาหมักหมกมาแกงเลียง จะอร่อยกว่าผักเหมียงเป็นไหนๆ  แต่หมักหมกไม่ได้ปลูกง่ายอย่างผักเหมียงนี่ซิครับ มันถึงหากินได้ยาก ไม่มีใครปลูกได้สำเร็จ ที่ได้กินอยู่ก็มันขึ้นเองตามธรรมชชาติ ผมพยายามที่จะขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด แต่ก็ต้องผมแพ้ไปยกหนึ่งแล้ว ว่าจะลองใหม่อีกซักยก ถึงแม้ว่าจะขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดได้แต่มันเป็นพืชที่โตช้าเอามากถึงมากที่สุด

ดอกหมักหมก

ต้นหมักหมกในสวนซึ่งผมคาดว่าต้นนี้อายุน่าจะพอๆ กับผม หรือมากกว่าผม

อันนี้ใบแก่นะครับแบบนี้เอามาแกงเลียงไม่ได้

ลูกหมักหมกที่ยังไม่สุก

ลำต้นของหมักหมก

กิ่งหมักหมก

    พื้นที่บ้านผม 5 ไร่มีหมักหมกประมาณ 10 ต้นเห็นจะได้ ทั้งรักทั้งหวงเลยครับ เพราะปีหนึ่งจะได้กินแกงเลียงหมักหมกแค่ไม่กี่ครั้งเอง

เนื้อหาทางวิชาการที่ผมค้นหารมาได้จาก http://plugmet.orgfree.com/flora_i.htm

หมากหมก

OPILIACEAE :  Lepionurus sylvestris  Bl.
 
ชื่ออื่น  -  ผักพูม (ไชยา สุราษฎร์ธานี )

หมากหมก เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 1 – 2 เมตร  ลำต้นสีเขียว กิ่งก้านแผ่ออก
จากลำต้นเป็นทรงพุ่ม คล้ายต้นผักหวานบ้าน มีกิ่งแตกออกเป็นชั้นๆ ละ 3 กิ่งๆ ละ 3 - 6
ใบ  เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ  รูปยาวรีปลายแหลม   หน้าใบเป็นมันลื่น ขอบใบเป็นหยักเล็ก
น้อย ใบกรอบเกรียม กว้างประมาณ 3 –7 ซม. ยาวประมาณ10 ซม.   ดอก  ออกใต้ลำ
กิ่งระหว่างขั้วใบ เป็นช่อ ดอกอ่อนสีเทา ดอกแก่สีเหลืองปลายดอกสีแดง     ผล  กลมรี
ยาวประมาณ 1 ซม. ลักษณะและขนาดของผลคล้ายผลของ ผักเขลียง   ช่อหนึ่งมี 3-5
 ผล  เมื่อสุกจะมีสีแดงสดใส

ลักษณะทางนิเวศน์ - หมากหมก พบได้ตามป่าชื้นทั่วไป ที่น้ำไม่ขัง

ส่วนที่ใช้ประโยชน์

    ราก(หัว) ใช้กินดิบๆ หรือเคี่ยวกับน้ำ 3 ส่วนให้เหลือ 1 ส่วน กินบำรุงกำลังกระตุ้นความ
กำหนัด  หรือใช้หัวตากให้แห้ง บดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้งรวง  ปั้นเป็นลูกกลอนขนาดปลาย
ก้อย กินครั้งละ 3 เม็ด เป็นยาบำรุงกำลัง    ราก(หัว)  กินดิบๆ หรือต้มแก้ตานขโมย แก้
โรคซางในเด็ก รักษาฝ้าในปาก   ทั้งต้น  แก้โรคไต โรคนิ่ว ขับปัสสาวะ 

ยอดและผลอ่อน  ใช้เป็นผักแกงเลียง    ผลแก่ ใช้ต้มกินเล่น

หมายเหตุ: ในเขตสงขลาสมัยก่อน(คลองหอยโข่ง,ทุ่งตำเสา)  จะพบเห็นหมากหมกได้
ตามบริเวณ สายดม แนวเขตบ้าน   ปัจจุบันพบเห็นบ้าง  เฉพาะบริเวณที่ยังไม่มีการปลูก
ยางพารา หรือตามหมู่บ้านในชนบทที่ห่างไกล )

 

ความเห็น

ขอบคุณคะ ได้รู้จักต้นไม้ใหม่อีกแล้ว

ผลสีแดงสวยมาก แล้วต้นเล็กขนาดนั้น แกงเลียงครั้งเดียวใบคงหายเกือบหมด

สวัสดีครับ คุณจินตนา

   รูปที่ให้ดูไม่มียอดอ่อนเลยครับ เวลามียอดอ่อนออกมาทีหนึ่งก็จะเก็บเอามาแกงเลียง ใช่ครับได้ครั้งหนึ่งเก็บได้น้อย
ต้องเก็บหลายๆต้น หรือเอาไปรวมกับผักชนิดอื่นครับ

พี่ลองมาแล้ว ไปเจอในสวนยาง อยู่รวมกันกลุ่มใหญ่เลย กะจะขุดมาใส่ถุง นึกอีกทีกลัวไม่ติด เลยตัดใบแก่ทิ้งไป เข้าไปดูอีกทีออกใบอ่อนมาเพียบเลย ก็ได้นำมาแกงเลียงสมใจอยาก รู้มั๊ยมีจุดเด่นยังงัย ใบหมากหมกใส่ในแกงเลียงจะเขียวตลอดเลย แม้ว่าจะอุ่นรอบสองแล้วก็ตาม...สีสวยน่ากินมาก...

ต้นหมากหมกนี้ ผมเคยเห็นเมื่อตอนเด็กๆ พ่อชี้ให้ดูครับ แต่เพราะยังเด็กจึงไม่ค่อยสนใจอะไร มาปัจจุบันนี้ กลับหาดูไม่ได้แล้วครับ น่าจะแพ้เครื่องตัดหญ้าที่แพร่กระจายเข้ามาสู่วิถีชีวิตแถวบ้านผมอย่างรวดเร็ว

ขอบคุณครับ สำหรับรูปต้นไม้ ทำให้ผมจำได้ว่าแถวบ้านผมก็เคยมีต้นหมากหมกอยู่เหมือนกัน แม้จะไม่เคยลิ้มรสของมันก็ตามที

ขอบคุณครับ

แถวบ้านผมไม่มีครับ 

บ้านเกษตร.คอม

"พอมี พอกิน พอใช้ พอใจในสิ่งที่มี"

ในสวนยางบ้านผม มีอยู่ สองสามต้นได้มั่ง  พ่อเว้นไว้  แต่ไม่ได้เก็บใบมากินนานแล้ว  ต้นแค่ไหนก็แค่นั้น ไม่โตขึ้นเลย

บ้านเราเรียกยอดพูมค่ะ ต้มกระทิใส่มันนิดหน่อย อร่อยอย่าบอกใคร เพิ่งรู้ว่าชื่อ หมากหมก

เพิ่งรู้ว่าชื่อผักพูม ประโยชน์ของการเรียนรู้ได้แลกเปลี่ยนกัน ช่วยกันอนุรักษ์ไม้ชนิดนี้ด้วยดีค่ะ

ตอนนี้เริ่มเห็นความสำคัญของหมากหมกแล้ว เดินดูในป่ายาง มีหลายต้น เลยให้แม่ขุดใส่ถุงมาชำไว้หลายต้นแล้ว  จากสภาพต้นหมากหมกส่วนมากจะมีตอของต้นหมากหมก เนื่องจากว่าโดนเครื่องตัดหญ้า แล้วมันก็แตกยอดออกมาใหม่ ต้องขุดลึกพอสมควรถึงจะมีชีวิตรอด  แสดงว่าเป็นพืชที่ปลูกยาก แต่ก็ตายยากเช่นกัน อายุยืนด้วยนะ ต่อไปจะสร้างสวนสมุนไพรจากป่าค่ะ มีใครสนใจบ้างคะ

เคยทดลองปลูก วิธีการดูเรื่องผักหวานป่า สระบุรี ได้ผลดีมาก เก็บเมล็ดแล้วอย่าทิ้งไว้หลายวันอัตราการงอกจะน้อยลง

ผักพูมสามง่าม(หมักหมก)กำลังสุกแดงเก็บได้ประมาณ50เม็ดจะทดลองปลูกใต้ต้นไม้โดยไม่เพาะเมล็ดในถุง ได้ผลอย่างไรจะแจ้งข่าว ผักพูมก็กำลังออกดอกประมาณเดือนมีนาคมคงมีเมล็ดให้ขยายพันธ์

หน้า